Thailand

Not Free
35
100
A Obstacles to Access 16 25
B Limits on Content 12 35
C Violations of User Rights 7 40
Last Year's Score & Status
35 100 Not Free
Scores are based on a scale of 0 (least free) to 100 (most free). See the research methodology and report acknowledgements.

อินเทอร์เน็ตถูกควบคุมจำกัดอย่างรุนแรงในประเทศไทย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันมีลักษณะของการใช้อำนาจควบคุมบังคับเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และภาครัฐได้จับกุมและดำเนินคดีทางอาญากับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ยังคงปรากฎความรุนแรงทางกายภาพและการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม โดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ดี ในปี 2562 ผู้คนจำนวนมากได้ออกมาท้าทายกฎหมายซึ่งห้ามการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านการวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในช่องทางออนไลน์ และการพูดในลักษณะนี้ยังคงพบเห็นได้อยู่ในการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยตามท้องถนนในช่วงปี 2563

เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพในปี 2557 ได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยลง กระบวนการเลือกตั้งถูกสังคมโดยกว้างมองว่าถูกออกแบบมาเพื่อยืดระยะเวลาและให้ความชอบธรรมกับบทบาทนำของกองทัพในการปกครองประเทศไทย รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นพลเรือนในนาม ยังคงอยู่ภายในการนำของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้นำคณะรัฐประหาร โดยได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนกรกฎาคม 2562 และยังดำเนินการลิดรอนสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปราบปรามความคิดเห็นต่างอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2562 – 31 พฤษภาคม 2563

  • รัฐบาลยังคงบีบบังคับให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ลบเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังกดดันให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียลบโพสต์ต่างๆอีกด้วย (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ข2)
  • มีเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่โชเชียลมีเดียต่อหน้าสาธารณชนในปี 2562 อันนับว่าเป็นลางบ่งชี้ถึงการชุมนุมประท้วงต่างๆเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในปี 2563 (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ข4 และ ข8)
  • เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพื่อจัดการกับข้อมูลที่รัฐบาลมองว่าไม่ถูกต้องและนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิด ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมายอันกดขี่อย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ข5, ค3, และ ค5)
  • รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 โดยจำกัดทั้งการแสดงออกอย่างเสรีในโลกออนไลน์และเสรีภาพของสื่อ อีกทั้งยังให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวางในการจับคุมและดำเนินคดีกับเหล่าผู้ใช้ (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ค1 และ ค2)
  • เหล่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกจับกุม ดำเนินคดีทางอาญา หรือต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าของการคุกคาม เนื่องจากได้แชร์เนื้อหาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบเกี่ยวกับโรคระบาด หรือบทวิพากษ์การรับมือสถานการณ์ของรัฐบาล (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ค3 และ ค7)
  • การบังคับบุคคลให้สูญหายและความรุนแรงทางกายภาพซึ่งพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมซึ่งเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงเป็นข้อห่วงกังวลหลังในระหว่างช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม (ดูเพิ่มเติมที่ข้อ ค7)

ก. อุปสรรคในการเข้าถึง

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือว่ามีราคาย่อมเยา แม้อัตราการเข้าถึงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีช่องว่างที่แบ่งแยกระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลได้ดำเนินการติดตั้งจุดให้บริการไวไฟ (Wi-Fi) ฟรีในพื้นที่ทุรกันดาร แต่บริการดังกล่าวยังคงเข้าถึงได้ในบริเวณที่จำกัด กลุ่มผู้นำทางการเมืองยังคงพยายามกวดขันในการเข้าควบคุมโครงสร้างทางพื้นฐานด้านเทคนิคและหน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมได้มากยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการรายใหญ่ไม่กี่รายมีอิทธิพลเหนือตลาดโทรคมนาคมและการให้บริการทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งทุกรายยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล หรือเชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับภาครัฐ

ก1: ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานได้จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือความเร็วและคุณภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือไม่? (0–6 คะแนน) (5/6)

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยถือว่าดีขึ้น โดยเฉพาะเนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือ รายงาน “ดิจิทัล 2020” ซึ่งจัดทำโดย วีอาร์โซเชียล (We Are Social) บริษัทด้านครีเอทีฟ และฮูทสวีท (Hootsuite) แพลตฟอร์มจัดการโซเชียลมีเดีย ระบุว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 75 โดยมีผู้ใช้จำนวน 52 ล้านคน ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 25621 ดัชนีชี้วัดความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตประจำปี 2563 (Inclusive Internet Index 2020) อันเป็นโครงการของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 29 จาก 100 ประเทศในด้านการเข้าถึงการใช้งาน ทั้งนี้ลำดับดังกล่าวเป็นการกำหนดจากคุณภาพและความกว้างขวางของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถเข้าถึงได้2

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ในเดือนมกราคม 2563 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 97 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยโทรศัพท์มือถือ เมื่อเทียบกับตัวเลขร้อยละ 94.7 ในปี 25613 ในทางกลับกัน ข้อมูลจากสถิติที่มีอยู่พบว่าร้อยละ 53.6 ของผู้ใช้ในเดือนธันวาคม 2562 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยลดลงจากตัวเลขร้อยละ 56 เมื่อเดือนธันวาคมของปีก่อนหน้า4

ค่าการใช้แบนด์วิดท์ (bandwidth) ระหว่างประเทศของประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ตกอยู่ที่ 10,988 Gpbs และค่าการใช้แบนด์วิดท์ภายในประเทศอยู่ที่ 8,126 Gbps5 ซึ่งถือว่าสูงกว่าเดือนเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 39 และร้อยละ 13 ตามลำดับ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัทเอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 แห่งและบริษัทโทรคมนาคมของภาครัฐอีก 2 แห่งได้เสนอประมูลคลื่นความถี่ซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการ 5G ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีมูลค่าการประมูลรวมกัน 1 แสนล้านบาท (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)6 หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายแรกที่เปิดให้ใช้เครือข่าย 5G7

ก2: การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีราคาแพงถึงขนาดทำให้คนไม่สามารถใช้ได้ หรือ เข้าไม่ถึงประชากรบางกลุ่มด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ สังคม หรือเหตุผลอื่นๆ หรือไม่ (0–3 คะแนน) (2/3)

ยังปรากฏช่องว่างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ ด้วยเหตุผลหลักเกี่ยวกับชนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าถึงยังคงถูกลงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 56 ใช้เงินประมาณ 200 – 599 บาท (7 – 20 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือนสำหรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่อีกร้อยละ 21 ใช้เงินต่ำกว่า 200 บาทต่อเดือน อีกประมาณร้อยละ 11 ของประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโครงการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย8 ผู้สังเกตการณ์บางรายได้ตั้งความคาดหวังว่าการริเริ่มให้บริการ 5G จะช่วยเพิ่มระดับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเนื่องจากจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง9 แต่บริษัทที่เข้าร่วมการประมูลต้องเสียค่าใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ 5G มากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้10 ขณะนี้จึงยังคงต้องคอยติดตามว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะถูกส่งต่อสู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือไม่11

โครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้พยายามลดช่องว่างด้านดิจิทัลที่ยังคงมีอยู่ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบท12 โครงการคืนความสุขให้คนไทยได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2559 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ในขณะนั้น และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีความมุ่งหมายในการช่วยให้พื้นที่ชนบทมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านจุดกระจายสัญญาณแบบมีสายและไร้สายด้วยราคาอันสมเหตุสมผล เมื่อเดือนธันวาคม 2560 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอีเอส) และบริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ติดตั้งจุดกระจายอินเตอร์เน็ตไร้สายในหมู่บ้าน 24,700 แห่ง13 อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดหลายประการในสัญญาที่ยังไม่ได้รับการปฏิบัติตาม เช่น มีการใช้สายสายไฟเบอร์ออพติกของจีน แทนที่จะใช้ของไทย ส่งผลให้เกิดความคาดเคลื่อนในความเร็วของการดาวน์โหลดจากที่ได้กำหนดไว้14 และยังส่งผลให้ต้องยื่นของบประมาณสูงกว่าที่ประเมินไว้ในตอนต้นเป็นอย่างมาก15

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงดีอีเอสแจ้งให้บริษัท TOT แก้ไขปัญหาต่างๆ ภายในช่วงเวลา 3 เดือน มิฉะนั้นบริษัทจะต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียสัญญากับภาคเอกชน16 ในขณะเดียวกัน กสทช.ได้ดำเนินการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายสำหรับการเข้าถึงโครงการนี้ โดยขยายให้หมู่บ้านอีก 15,732 แห่งในพื้นที่ชนบทและอีก 3,920 แห่งในพื้นที่ชายแดน17 ทั้งนี้ งานที่เพิ่มเติมขึ้นมาเหล่านี้มีกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าใดๆ ในช่วงท้ายของระยะเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม18 อีกทั้ง โครงการนี้ยังได้มีการเฟ้นหาและฝึกอบรมคนเพื่อให้ทำงานกับชาวบ้านในการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร19

ก3: รัฐบาลได้เข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในทางเทคนิคหรือทางกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดความสามารถในการเชื่อมต่อหรือไม่ (0–6 คะแนน) (5/6)

ยังไม่ปรากฏรายงานว่าภาครัฐได้ขัดขวางหรือจำกัดความเร็วอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์มือถือในช่วงระยะเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในทางเทคนิคได้บางส่วนก็ตาม

บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการโทรคมนาคม ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมระหว่างประเทศ รวมไปถึงเกตเวย์ระหว่างประเทศและการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำและดาวเทียม20 การเข้าถึงเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศถูกจำกัดให้เพียงสำหรับ CAT Telecom เท่านั้น จนกระทั่งในปี 2549 ที่เริ่มเปิดให้มีคู่แข่ง21

ภาครัฐยังคงมีแผนการรวบกิจการ CAT Telecom และ TOT เข้าด้วยกัน เนื่องจากรัฐเป็นเจ้าของบริษัททั้งสอง การควบรวมกิจการนี้ได้รับการอนุมัติด้านการกำกับดูแลในเดือนพฤษภาคม 256222 และมีความตั้งใจที่จะเปิดตัวองค์กรที่จะตั้งขึ้นใหม่ในนาม “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” ในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากข้อเสนอนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวอาจเกิดความล่าช้าขึ้นเนื่องด้วยความไม่ลงรอยกันระหว่างทีมผู้บริหารของ CAT Telecom และ TOT23 แม้ว่าการควบรวมกิจการจะมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้สามารถแข่งขันกับบริษัทเอกชนได้24 แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกมองว่าเป็นแผนการของรัฐบาลในการเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศอย่างแน่นหนามากขึ้นด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2549 กองทัพได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับ “เกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งชาติ” ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเข้าแทรกแซงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการไหลเวียนของข้อมูลได้ทุกเมื่อ25 เนื่องด้วยกองทัพไทยได้ส่งต่ออำนาจให้กับรัฐบาลซึ่งเป็นพลเรือนในนามหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จึงยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะนำเอา “ซิงเกิลเกตเวย์” ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกัน มาบังคับใช้หรือไม่26

พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ) ของประเทศไทย รวมศูนย์อำนาจเหนือผู้ใช้บริการจากภาครัฐและเอกชนไว้ในมือของหน่วยงานของรัฐบาล (ดู ค5) กฎหมายฉบับนี้จำแนกให้บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคมเป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ภายใต้มาตรา 49 และอนุญาตให้คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีอำนาจในการกำหนดให้บริษัทหรือองค์กรอื่นๆเป็น CII เพิ่มเติม27 คณะกรรมการทั้งหลายซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ อันประกอบไปด้วยตัวแทนต่างๆจากภาครัฐ ได้รับอำนาจอย่างกว้างขวางเหนือ CII เพื่อจัดการสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติและความสงบเรียบร้อย โดยไม่มีการระบุคำนิยามของคำศัพท์เหล่านี้28 แม้ไม่ปรากฏการอ้างถึงการควบคุมจำกัดการเชื่อมต่ออย่างโจ่งแจ้ง แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ทำให้เป็นการง่ายสำหรับภาครัฐที่จะบังคับผู้ให้บริการให้ทำตามคำสั่งในเรื่องที่ภาครัฐสามารถพิจารณาตีความอย่างกว้างขวางว่าเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีกด้วย29

กฎหมายฉบับนี้มิได้กำหนดให้กระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลมีความโปร่งใส และยังขาดระบบความพร้อมรับผิดที่มีประสิทธิภาพในกรณีที่เกิดการควบคุมจำกัดความสามารถในการเชื่อมต่อขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารัฐบาลนิยามภัยคุกคามหนึ่งว่าอยู่ใน “ระดับวิกฤติ” อันเป็นระดับสูงสุดตามที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด เจ้าหน้าที่เพียงต้องแจ้งศาลหลังจากได้ดำเนินการใดๆที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับการตอบโต้ภัยไปแล้วเท่านั้น30 ไม่มีเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อชี้แนะแนวทางสำหรับรัฐบาลในการกำหนดว่าอะไรนับว่าเป็นภัยคุกคามระดับวิกฤติบ้าง และการบังคับใช้กฎหมายไม่มีการติดตามเฝ้าระวังที่เป็นอิสระหรือการรายงานข่าวซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้31

ก4: มีอุปสรรคทางกฎหมาย การกำกับดูแล หรือเศรษฐกิจซึ่งจำกัดความหลากหลายของผู้ให้บริการหรือไม่ (0–6 คะแนน) (4/6)

บริการแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการรายใหญ่ไม่กี่ราย แม้บริการจำนวนมากจะเป็นของส่วนตัว แต่รายงานในปี 2560 ขององค์กรองค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนล (Privacy International) ซึ่งประจำอยู่ในสหราชอาณาจักร พบว่าภาครัฐมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับบริษัทเอกชนด้านโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) มาอย่างยาวนาน โดยเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่งต่างๆ อันเป็นตัวอย่างที่ชัดแจ้งของ “ปัญหาประตูหมุน” ระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนด้านโทรคมนาคม32

แม้ว่า ISP 20 รายจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด 3 รายควบคุมกว่าร้อยละ 86 ของตลาดในปี 2562 โดยบริษัท TRUE Online เป็นผู้นำภาคส่วนโดยควบคุมร้อยละ 37.5 จวบจนสิ้นปี 2561 บริษัท Jasmin ตามมาด้วยอัตราร้อยละ 32.4 และรัฐวิสาหกิจอย่าง TOT ยังคงดำรงตำแหน่งที่สาม ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทจะลดลงเหลือร้อยละ 16.1 ก็ตาม33 บริษัท AIS ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับหนึ่งของประเทศไทยซึ่งเข้าสู่ตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายในปี 2559 ได้รับส่วนแบ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของตลาด34

ในระหว่างช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งสั่นสะเทือนตำแหน่งแห่งที่ต่างๆในตลาด ISP อย่างแรก มีรายงานข่าวว่าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้สัมปทานหนึ่งเดียวที่มีระยะเวลา 30 ปี แก่บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TRUE Corporation) เพื่อให้ดำเนินการติดตั้งเคเบิลโทรคมนาคมและโทรทัศน์ใต้ดินภายในเวลา 2 ปี โดยการตัดสินใจนี้ถูกหลายคนมองว่าอาจเป็นการเอื้อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแก่บริษัท TRUE เป็นอย่างมาก35 อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน 2563 มีรายงานข่าวว่ากสทช.ได้ขอให้กทม.เปิดโอกาสให้มีการสมัครเข้ารับสัมปทานอีกรอบ โดยอ้างว่าเกิดความเข้าใจผิดขึ้นในกระบวนการครั้งแรก36 เหตุการณ์ที่สองคือ การซื้อและแจกจ่ายใบอนุญาต 5G จำนวน 48 ใบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งในตลาดได้ (ดู ก1) บริษัท AIS และ TRUE ได้ซื้อใบอนุญาตมา 23 และ 17 ใบตามลำดับ ในขณะที่ TOT ได้ซื้อไป 4 ไปและทั้งบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) และ CAT ได้ซื้อไปบริษัทละ 2 ใบ37

สำหรับภาคส่วนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท AIS มีส่วนแบ่งในตลาดกว่าร้อยละ 43.5 ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 บริษัท TRUE มีร้อยละ 32 และ DTAC ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการจากประเทศนอร์เวย์ เป็นลำดับต่อมาโดยถือส่วนแบ่งอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 21.738 บริษัท AIS และ DTAC ให้บริการคลื่นความถี่บางส่วนซึ่งได้รับมาจากสัมปทานของรัฐวิสาหกิจ TOT และ CAT ทั้งนี้ ระบบการแบ่งสรรปันส่วนซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีมากนัก

ก5: องค์กรกำกับดูแลในระดับชาติซึ่งควบคุมผู้ให้บริการและเทคโนโลยีดิจิทัล ล้มเหลวในการดำเนินงานอย่างเสรี ยุติธรรม และเป็นอิสระหรือไม่ (0–4 คะแนน) (0/4)

หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหาร ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ได้ปฏิรูปองค์กรกำกับดูแลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมผู้ให้บริการและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยลดความเป็นอิสระ ความโปร่งใส และความรับผิดขององค์กรเหล่านี้ลง

กสทช. ซึ่งเคยเป็นองค์กรที่กำกับดูแลวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ถูกปลดจากอำนาจและตัดงบประมาณ อีกทั้งยังลดทอนความเป็นอิสระ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้อนุมัติผ่านพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ. กสทช.ฯ) ในปี 2560 กสทช. ยังคงมีฐานะเป็นองค์กรราชการอยู่โดยมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง และมีเพียงอำนาจในการดำเนินนโนบายซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีและองค์กรใหม่อื่นๆที่มีหน้าที่ทับซ้อนกัน ในปี 2559 สนช.ก่อตั้งขึ้นกระทรวงดีอีเอสเพื่อแทนที่กระทรวงไอซีที โดยเข้ามารับผิดชอบด้านการดำเนินนโยบายและบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมฯ) (ดู ค2)39

คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ค.ก.ก. ดิจิทัลฯ) มีหน้าที่เสนอแนะแนวทางการทำงานให้กระทรวงดีอีเอสและรับผิดชอบเรื่องการจัดทำนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. ดิจิทัลฯ)40 ค.ก.ก. ดิจิทัลฯ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและประกอบไปด้วยรัฐมนตรีต่างๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมไม่เกิน 8 คน41 คณะกรรมการนี้มีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานราชการ จึงทำให้ไม่ต้องมีความรับผิดภายใต้กฎหมายซึ่งกำกับดูแลองค์กรราชการ แม้ว่าคณะกรรมการจะมีอำนาจเหนือกระทรวงดีอีเอสและกสทช. ก็ตาม คณะกรรมการดำเนินกิจการต่างๆผ่านสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตรา 25 ของพ.ร.บ. ดิจิทัลฯ ระบุให้กสทช.โอนเงินรายได้ไปให้สำนักงานดังกล่าว “ตามความจำเป็น”

พ.ร.บ. ดิจิทัลฯ กำหนดให้รายได้ของกสทช.ที่เก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไม่เกิน 5 พันล้านบาท (165 ดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาใหม่และมีอำนาจอันกว้างขวางในการกำกับดูแลนโยบายและรับผลกำไรจากธุรกิจกิจการร่วมค้าและการดำเนินกิจการของกองทุนเอง อีกทั้ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งเป็นอีกองค์กรที่มีอำนาจอย่างกว้างขวาง เพื่อเข้ามาทำงานแทนที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติ เช่นเดียวกับกรณีของค.ก.ก. ดิจิทัลฯ กองทุนดังกล่าวและ DEPA ไม่นับเป็นหน่วยงานราชการที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ จึงก่อให้เกิดข้อห่วงกังวลที่ร้ายแรงเกี่ยวกับความโปร่งใสและความขัดแย้งทางผลประโยชน์

คณะกรรมการสรรหา กสทช. ประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่งหลากหลายทางราชการหรือตุลาการซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเป็นจำนวน 7 คน ผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องผ่านการอนุมัติโดยเลขาธิการวุฒิสภาและการรับรองจากวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากมติของรัฐบาลทหารในเดือนมกราคม 2562 ผู้เข้ารับการคัด เลือกไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม การโฆษณากระจายเสียง หรือด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกต่อไป แม้ว่าในความเป็นจริงการสรรหากรรมการมักเลือกจากผู้มีตำแหน่งในรัฐบาล กองทัพ หรือสถาบันตำรวจ มากกว่าการพิจารณาประสบการณ์การทำงานอยู่แล้วก็ตาม กรรมการของกสทช.ได้รับเงินค่าตอบแทนในอัตราที่สูงมากและมีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท42

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจต่างๆของกสทช. ยกตัวอย่างเช่น กสทช.ได้ดำเนินการระงับการออกอากาศของช่อง “ว๊อยซ์ ทีวี” ในปี 2557, ปี 2560 และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ และยังกำหนดข้อบังคับในการควบคุมจำกัดการรายงานข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของช่อง43 ศาลปกครองได้พิจารณาคดีเกี่ยวกับคำสั่งห้ามออกอากาศในปี 2562 โดยพิพากษาให้คำสั่งเป็นโมฆะ และเรียกร้องให้กสทช.มีความเป็นกลางทางการเมืองและเคารพเสรีภาพในการแสดงออก44

ในเดือนเมษายน 2561 สนช. ปฏิเสธผู้สมัครเข้าเป็นกรรมการทั้ง 14 รายซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหา กสทช45 หลังจากการลงคะแนนเสียง หัวหน้าคสช.ได้ระงับกระบวนการสรรหาด้วยอำนาจภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และรับสั่งให้คณะกรรมการชุดเดิมดำรงตำแหน่งต่อไป มีการคาดการณ์ว่าจะมีการแก้ไขพ.ร.บ. กสทช.ฯ ในเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากกรรมการชุดใหม่ได้รับการคัดเลือกแล้ว46

ในปี 2562 และ 2563 หน่วยงานหลายแห่งได้รับการจัดตั้ง หรือจะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อบังคับใช้พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ) ของประเทศไทย พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ได้จัดตั้งกมช., คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.), สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, และคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กบส.)47 กมช.มีหน้าที่พัฒนานโยบาย แผนปฏิบัติการ และแนวทางปฏิบัติ ในขณะที่กกม.ได้รับการสนับสนุนจากกบส.ในการดำเนินงานตามผลลัพธ์เชิงนโยบายเหล่านี้48 คณะกรรมการจำนวนกว่าครึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยมีบุคคลที่มาจากหน่วยงานราชการหรือภาครัฐดำรงตำแหน่งในทุกคณะกรรมการ49 ในเดือนมกราคม 2563 มีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเตรียมการบังคับใช้พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ 50

ในปี 2563 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 (ดู ค6)51 คณะกรรมการซึ่งมีสมาชิก 16 รายนี้ได้รับอำนาจในการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนและประธานกรรมการ 1 คน โดยคัดเลือกจากความเชี่ยวชาญ ในขณะที่กรรมการที่เหลือจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ52 พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุให้การสรรหากรรมการเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใส แต่มิได้กำหนดอย่างชัดเจนให้การตัดสินใจต่างๆของคณะกรรมการเป็นไปอย่างอิสระหรือต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ

ข. การจำกัดเนื้อหา

รัฐบาลได้จำกัดเนื้อหาออนไลน์มีลักษณะวิพากษ์ด้วยกันสั่งปิดหน้าเว็บหรือเครือข่ายเสมือนจริงส่วนตัว (VPN) และร้องขอให้บริษัทขนาดใหญ่รายต่างๆ เช่น กูเกิล, ทวิตเตอร์, เฟสบุ๊ค ดำเนินการลบเนื้อหาออกจากแพลตฟอร์มด้วยเหตุว่าเป็นการละเมิดกฎหมายอันจำกัดของประเทศ ข้อมูลเท็จที่สนับสนุนรัฐบาลยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างพรั่งพรูในโลกออนไลน์ และผู้ใช้ต้องเซ็นเซอร์ตนเองในการแสดงออกหลายประเด็น อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อนของปี 2563 หลังจากช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม ผู้ชุมนุมได้ใช้โซเชียลมีเดียในการจัดการชุมนุมในท้องถนน ซึ่งมีการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก

ข1: ภาครัฐปิดหรือคัดกรอง หรือบังคับให้ผู้ให้บริการปิดหรือคัดกรองเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตหรือไม่ (0–6 คะแนน) (3/6)

การบล็อคเนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่เนื่องจากขาดความโปร่งใส จึงไม่มีขอบเขตที่กำหนดเงื่อนไขการบล็อคที่ชัดเจน เว็บไซต์ต่างๆถูกบล็อคเนื่องด้วยเหตุเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ เนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) และการให้บริการ VPN โดยไม่ได้รับอนุญาต53

ในเดือนธันวาคม 2562 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ของตำรวจรายงานว่าได้แจ้งให้กระทรวงดีอีเอสบล็อคเว็บไซต์กว่า 1,500 เว็บในปีนั้น โดยที่กรณีส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการพนันหรือการละเมิด IPR54 ภายในเดือนเดียวกัน กสทช.และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ทางออนไลน์ (COPTICS) เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการบล็อคเว็บไซต์ที่พบว่ามีการละเมิด IPR ให้มีประสิทธิภาพ55 จากข้อมูลในเดือนมกราคม 2562 ศูนย์ COPTICS ได้รับคำร้องให้บล็อค 1,080 ยูอาร์แอล (URL) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิด IPR โดยมีเพียง 89 ยูอาร์แอลที่ถูกปิดลงไปได้ในขณะที่อีก 991 ยูอาร์แอล ยังคงไม่ได้ถูกปิด56 เลขาธิการกสทช. อธิบายว่าไม่สามารถปิดบางยูอาร์แอล เพราะ ยูอาร์แอลเหล่านี้ได้เข้ารหัสเอาไว้ภายใต้กฎระเบียบของ HTTPS และมีผู้ผลิตเนื้อหาและเจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งอยู่ต่างประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ 57 เลขาธิการท่านนี้ยังรายงานอีกว่า คณะกรรมการได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในการบล็อค 788 ยูอาร์แอลที่เข้ารหัสไว้จากประเทศเหล่านี้58

ประเทศไทยไม่เคยเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบถึงจำนวนยูอาร์แอลที่ถูกบล็อกโดยคำสั่งศาล ประชาชนมักจะพบว่ายูอาร์แอลใดถูกบล็อกก็ต่อเมื่อไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์นั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกันยายน 2562 ผู้ใช้รายงานว่าไม่สามารถเข้าถึง Somsakwork.blogspot.com ซึ่งเป็นบล็อกที่เขียนโดยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย เนื่องด้วย “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560” ในเวลาต่อมา บล็อกดังกล่าวกลับมาเข้าถึงได้ แต่เป็นเพียงสำหรับผู้ใช้บางรายเท่านั้น มิใช่สำหรับผู้ใช้ทุกราย59 ในเดือนพฤษภาคม 2560 สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA) ระบุว่ามีสมาชิกสมาคมได้บล็อกการเข้าถึง 6,300 ยูอาร์แอล ตามคำสั่งของกสทช.ซึ่งอ้างถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ อันครอบคลุมไปถึงเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานภาพ ภาพโป๊เปลือยอนาจาร และการพนัน และเนื้อหาประเภทอื่นๆ60

การบล็อกในบางครั้งส่งผลกระทบต่อทั้งเว็บไซต์ มิใช่เพียงต่อ URL สำหรับบทความหรือโพสต์เดียว นักวิจัยหลายรายได้ทดสอบ 1,525 ยูอาร์แอล จาก ISP 6 รายระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และพบว่ามี 13 เว็บไซต์ที่ถูกบล็อกไปทั้งเว็บ61 เว็บไซต์ข่าวอย่างน้อยหนึ่งเว็บ นั่นคือ Daily Mail ของสหราชอาณาจักร ถูกบล็อกในระดับโดเมนโดยบริษัท TOT และ 3BB เว็บไซต์ที่ให้บริการเครื่องมือที่ให้ความเป็นนิรนามแก่ผู้ใช้ในโลกออนไลน์และช่วยหลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์เนื้อหา อันหมายรวมถึง VPN ก็ถูกบล็อกโดย ISP มากกว่า 1 รายด้วยเช่นกัน62 งานศึกษาพบว่ามีความไม่คงเส้นคงวาในหมู่ผู้ให้บริการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบางรายอาจใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจจำกัดเนื้อหา โดยที่มิได้รับอนุญาตมาก่อน ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของ VPN Hotspot Shield63 ถูกบล็อกโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบริษัท TRUE แต่ก็ยังคงเข้าถึงได้อยู่ ในขณะที่ Ultrasurf ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง VPN ก็ถูกบล็อกโดยบริษัท DTAC, AIS, และ 3BB จากข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน 2563

ข2: รัฐหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐใช้วิธีการทางกฎหมาย ทางการปกครอง หรือทางอื่นๆ ในการบังคับให้ผู้เผยแพร่เนื้อหา ผู้ดูแลเนื้อหา หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลลบเนื้อหาหรือไม่ (0–4 คะแนน) (0/4)

การลบเนื้อหายังคงดำเนินต่อไปภายใต้การควบคุมอย่างแน่นหนาของรัฐบาลระหว่างช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม เช่นเดียวกับการบล็อกหรือการคัดกรองเนื้อหา ผู้ใช้มักถูกกดดันโดยภาครัฐให้ลบเนื้อหา ในขณะเดียวกัน ผู้ที่จัดทำเนื้อหาหรือผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางมักยอมลบเนื้อหาตามคำขอเพื่อหลีกเลี่ยงโทษทางอาญา (ดู ข3)

ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2561 เฟสบุ๊คได้จำกัดการเข้าถึง 958 โพสต์หลังจากได้รับรายงานจากกระทรวงดีอีเอส ซึ่งกล่าวหาว่าเนื้อหาเหล่านี้ละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาในประเด็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ. คอมฯ ในประเด็นเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ64 รายงานด้านความโปร่งใสของกูเกิลเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ส่งคำขอ 25 ฉบับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2561 ไปยังหน่วยงานบริการต่างๆของกูเกิล ซึ่งรวมไปถึงยูทูป (Youtube) เพื่อให้ลบเนื้อหา 1,238 ส่วน65 คำขอเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

เนื้อหาซึ่งตกเป็นเป้าของการถูกลบหรือบล็อกโดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หมายรวมไปถึงการแสดงออกในประเด็นทางการเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคม เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 หลังจากช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม เฟสบุ๊คได้บล็อคผู้ใช้ในประเทศไทยให้ไม่สามารถเข้าถึง “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยและเป็นนักวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ก่อตั้งขึ้นในแพลตฟอร์มแห่งนี้เมื่อเดือนเมษายน โดยเป็นการดำเนินการหลังได้รับคำสั่งทางกฎหมายจากกระทรวงดีอีเอส66 กลุ่มดังกล่าวมีผู้ใช้เป็นสมาชิกกว่าหนึ่งล้านคนและมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับกษัตริย์ของประเทศไทย หลังจากได้บล็อกการเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวในหมู่ผู้ใช้ในประเทศ เฟสบุ๊คก็ได้ประกาศว่าจะตอบโต้คำสั่งฉบับนี้ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย67

ในอีกหนึ่งตัวอย่าง วันที่ 6 มิถุนายน 2562 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและมักกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แชร์โพสต์เฟสบุ๊คซึ่งมีเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นพระบรมราชชนนีพันปีหลวงของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ทั้งนี้ปรากฎอย่างชัดเจนว่าโพสต์ดังกล่าวถูกบล็อคจากผู้ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น68

ผู้ใช้ ผู้เผยแพร่ และผู้ดูแลเนื้อหาถูกกดดันและขู่เข็ญให้ลบเนื้อหาออก เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 นักวิจารณ์เชิงเสียดสีชาวฝรั่งเศสถูกกดดันให้ลบวิดีโอเพลงที่ล้อเลียนเพลงประจำคสช.ออกจากบัญชีโซเชียลมีเดียของเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจเยี่ยมบ้านของเขาและสั่งให้เขาเซ็นบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุว่าเนื้อหาดังกล่าว “ไม่เหมาะสม” และบ่อนทำลายประเทศไทยและประชาชน69 ในเดือนเดียวกัน นักแสดงตลกและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกลุ่มหนึ่งก็ถูกภาครัฐเข้ากดดันให้ลบหรือออกมาขอโทษที่โพสต์เนื้อหาในโชเชียลมีเดียที่วิพากษ์หรือล้อเลียนรัฐบาลทหารเช่นกัน

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งถูกจับกุมหลังจากเธอโพสต์ข้อความโดยใช้แฮชแท็ก (hashtag) #ขบวนเสด็จ เพื่อวิพากษ์การปิดท้องถนนระหว่างขบวนเสด็จของเชื้อพระวงศ์ (ดู ข4)70 ตำรวจได้ซักถามเธอเกี่ยวกับโพสต์ต่างๆ ของเธอ ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาที่นักกิจกรรมนักศึกษาที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยคนอื่นๆได้แชร์ เจ้าหน้าที่สั่งให้เธอลบโพสต์เก่าๆและเซ็นยินยอมว่าเธอจะไม่โพสต์ถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก (ดู ค7)71 ในเดือนมีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งถูกบังคับให้ลบวิดีโอในติ๊กต็อก (Tiktok) ซึ่งล้อเลียนนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และถูกจับให้ขังเดี่ยวเพื่อเป็นการลงโทษ72

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อเฝ้าระวังโพสต์ในโลกออนไลน์ที่นับว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จและเนื้อหาที่ยุยงปลุกปั่น เมื่อพบเนื้อหาเหล่านี้ กกต.จะติดต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลบทิ้ง หรือร้องขอแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟสบุ๊ค กูเกิล หรือแอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความอย่าง ไลน์ เป็นต้น ให้ดำเนินการลบเนื้อหาภายใน 2 วัน73 มาตรา 73(5) และมาตรา 159 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบุไว้ว่า เจ้าของเนื้อหาเหล่านี้สามารถรับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 20 ปี74 ในขณะที่ข้อกฎหมายเหล่านี้ถูกใช้ดำเนินคดีต่อสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น กกต.ได้สั่งให้มีการลบทั้งเนื้อหาที่สนับสนุนและต่อต้านคสช. โดยส่วนใหญ่ด้วยเหตุเนื่องจากว่าถูกพิจารณาว่าเป็นข้อมูลเท็จเกี่ยวกับพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง75

ข3:การควบคุมจำกัดรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นกับพื้นที่อินเทอร์เน็ตและเนื้อหาออนไลน์ขาดความโปร่งใส ไม่ได้สัดส่วนกับเป้าหมายที่ระบุไว้ หรือไม่มีกระบวนการอุทธรณ์ที่เป็นอิสระ (0–4 คะแนน) (0/4)

การควบคุมจำกัดเนื้อหาออนไลน์ขาดความโปร่งใส และผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการอุทธรณ์ที่เป็นอิสระได้ แม้ภาครัฐต้องร้องขอให้ศาลพิจารณาการบล็อคเนื้อหา ในทางปฏิบัติหน่วยงานตุลาการมักอนุญาตให้ดำเนินการตามคำร้องโดยไม่ตรวจสอบ76 นอกจากนี้ ทั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและการประกาศสถาณการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะล้วนอนุญาตให้ภาครัฐสามารถออกใบแจ้งเตือนให้แก้เนื้อหาในโลกออนไลน์ได้ (ดู ข5 และ ค1)77

พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับแก้ไขซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2560 สามารถให้อำนาจกับหน่วยงานมากขึ้นหลายแห่งในการเร่งประมวลคำร้องให้บล็อกเนื้อหาและสามารถขยายไปครอบคลุมถึงการระบุประเภทเนื้อหาที่ต้องถูกบล็อก มาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมฯ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอสสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติหรือพบว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปี 2560 นี้ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์” ที่มีสมาชิก 9 คนและได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงดีอีเอส โดยมีอำนาจในการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำคำสั่งศาลไปใช้บล็อคเนื้อหาได้ กรรมการสามคนต้องมาจากแวดวงสื่อมวลชน สิทธิมนุษยชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรา 20(3) อนุญาตให้คณะกรรมการสามารถสั่งจำกัดเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือศีลธรรมได้ แม้ว่าเนื้อหานั้นจะมิได้ละเมิดกฎหมายก็ตาม นั่นหมายความว่าศาลอาจได้รับคำร้องให้สั่งระงับการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกกฎหมายตามดุลพินิจของคณะกรรมการซึ่งไม่ต้องรับผิดใดๆต่อสาธารณะ78 ในเดือนสิงหาคม 2562 มีการประชุมเพื่อสรรหากรรมการ79 แต่มิได้มีการเผยแพร่ผลของการประชุมและรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาดังกล่าวสู่สาธารณะแต่อย่างใด80

ในเดือนกรกฎาคม 2560 มีการประกาศบังคับใช้ประกาศกระทรวงซึ่งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรา 20 ของพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ผู้ให้บริการจะต้องดำเนินการตามคำสั่งของศาลในการระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ด้วยมาตรการทางเทคนิคต่างๆ81 ร่างสุดท้ายของประกาศกระทรวงนี้นับว่าได้พัฒนาขึ้นจากร่างก่อนๆ ซึ่งกำหนดให้ ISP ต้องมีบทบาทเชิงรุกในการเซ็นเซอร์และใช้วิธีการใดๆตามความจำเป็นเพื่อบล็อกเนื้อหา

พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับแก้ไขปี 2560 ระบุให้ผู้ให้บริการหรือผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง (Intermediary) ต้องระวางโทษภายใต้กฎหมายฉบับนี้หากอนุญาตให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง82 ข้อกฎหมายที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาในปี 2560 ให้การคุ้มครองบางส่วนแก่ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางผ่านระบบการแจ้งเตือนเพื่อให้นำเนื้อหาออก (Notice-and-takedown system) โดยกำหนดระเบียบและกระบวนการบังคับสำหรับร้องขอให้นำเนื้อหาออกและได้ระบุให้ภูมิคุ้มกันสำหรับ “ผู้ให้บริการเพียงด้านการรับส่งผ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์” และผู้ให้บริการที่เก็บหรือพักข้อมูลคอมพิวเตอร์ชั่วคราว (cache operators)

แม้จะมีการพัฒนาไปในทางบวกดังกล่าวเหล่านั้น แต่ข้อกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมยังคงเปิดช่องว่างใหญ่ที่อาจทำให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับแก้ไขดูเหมือนว่าจะบังคับให้บุคคลต้องรับผิดชอบในการลบเนื้อหาที่ถูกแบนออกจากอุปกรณ์ส่วนตัว แม้ว่าหลักการบังคับใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวยังคงไม่ชัดเจน มาตรา 16(2) ระบุไว้ว่าผู้ใดที่ตั้งใจครอบครองข้อมูลซึ่งศาลตัดสินว่าผิดกฎหมายและได้สั่งให้ทำลายทิ้งแล้ว ถือว่าต้องระวางโทษทางอาญา83 นักวิเคราะห์ถกเถียงว่าภาษาที่ถูกใช้ ณ ที่นี้สามารถตีความไปถึงว่าต้องทำลายข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในแฟ้มเก็บถาวร แต่ไม่มีกรณีใดๆที่นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้อย่างชัดเจนตั้งแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้มาในปี 2560

ประกาศกระทรวงดีอีเอสอีกฉบับในเดือนกรกฎาคม 2560 ได้ปรับแก้เรื่องความรับผิดของผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลางเพิ่มเติม84 ประกาศฉบับนี้ได้จัดตั้งระบบการร้องเรียนเพื่อให้ผู้ใช้สามารถรายงานเกี่ยวกับเนื้อหาที่ถูกแบนได้และยังเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตัวกลางจัดการตอบรับข้อร้องเรียนทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการรับผิดใดๆ หลังจากได้รับการแจ้งเตือนแล้ว สื่อกลางต้องนำเนื้อหาที่ได้รับแจ้งออกภายใน 7 วันสำหรับข้อมูลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเท็จหรือบิดเบือน, ภายใน 3 วันสำหรับเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าอนาจาร และภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ปรากฎกระบวนการสำหรับสื่อกลางในการประเมินข้อร้องเรียนอย่างอิสระ อีกทั้งเจ้าของเนื้อหายังต้องรับภาระอันหนักหน่วง หากต้องการโต้แย้งการลบเนื้อหา เจ้าของจะต้องยื่นร้องทุกข์กับตำรวจก่อน จากนั้นจึงส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสื่อกลางซึ่งจะมีอำนาจสิ้นสุดในการตัดสินใจ ทั้งตัวบริษัทและเจ้าของเนื้อหาซึ่งไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

การกำหนดกรอบเวลา 24 ชั่วโมงสำหรับการลบข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติภายใต้ประกาศฉบับนี้นั้น ถือเป็นการเพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลในปี 2556 ที่เคยระบุไว้ว่าช่วงเวลา 11 วันถือว่าเป็นปริมาณเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลบเนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ85 นอกจากนี้ ประกาศนี้ยังบังคับให้สื่อกลางทำหน้าที่บ่งชี้ด้วยตนเองว่าเนื้อหาต่างๆนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้สื่อกลางต้องลบเนื้อหาใดก็ตามที่คิดว่าอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีได้ในที่สุด โดยยึดมั่นเรื่องการปกป้องตนเองเป็นหลักเหนือกว่าสิทธิของประชาชนในการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร สื่อกลางบางรายมีมุมมองต่อประกาศกระทรวงดีอีเอสฉบับนี้ในเชิงบวกแต่อยู่ในความระมัดระวัง โดยเฉพาะในด้านของกระบวนการที่ชัดเจนและมาตรการบรรเทาภาระในการต้องเฝ้าระวังและลบเนื้อหาในเชิงรุก อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏคดีใดๆที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้

ในเดือนกันยายน 2563 หลังจากช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม กระทรวงดีอีเอสได้ดำเนินคดีต่อทวิตเตอร์และเฟสบุ๊คเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอให้ลบเนื้อหา86

ข4: นักข่าวออนไลน์ นักวิจารณ์ หรือผู้ใช้ทั่วไปต้องเซ็นเซอร์ตนเองหรือไม่ (0–4 คะแนน) (1/4)

บรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยซึ่งถูกควบคุมจำกัดนั้น พลอยส่งเสริมให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเองในโลกออนไลน์ การลงโทษทางกฎหมายถูกนำมาใช้บ่อยครั้งสำหรับการกระทำ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือภาคธุรกิจบนเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เป็นต้น (ดู ค3) รัฐบาลยังประกาศให้รู้โดยทั่วกันว่ากำลังติดตามเฝ้าดูโซเชียลมีเดียเพื่อควบคุมการแสดงออกทางการเมือง87 และข่มขู่ซ้ำๆเกี่ยวกับผลที่จะตามมาหากแชร์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ภาครัฐได้ข่มขู่ว่าจะจำคุกผู้ที่แชร์ข้อมูลซึ่งถูกมองว่าไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 แม้กระทั่งในวันเมษาหน้าโง่ (April Fools’ Day) 88 ผู้ใช้ที่แสดงออกความคิดเห็นต่างต้องเผชิญกับการคุกคามทางออนไลน์และการขู่เข็ญ หรือถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปแชร์และขุดคุ้ยชีวิตส่วนตัว (ดู ค7) การล้างแค้นเอาคืนในลักษณะนี้สามารถส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (chilling effect) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเองในโลกออนไลน์

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยส่วนใหญ่เซ็นเซอร์ตนเองในแพลตฟอร์มสาธารณะเมื่อพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องด้วยกฎหมายห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีโทษฐานร้ายแรงของประเทศไทย (ดู ค2) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีข่าวลือหว่อนว่าพรรคฝ่ายค้าน ไทยรักษาชาติ จะเสนอพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผู้เป็นพระโสทรเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้ง ผู้ใช้ได้เพียงแต่พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในบทสนทนาส่วนตัวทางออนไลน์ เช่น ผ่านกลุ่มเฟสบุ๊คและไลน์แบบปิด และไม่มีการพูดคุยในแพลตฟอร์มสาธารณะ ช่องข่าวประเทศไทยและนักข่าวก็หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวนี้เช่นกัน ช่องข่าวในประเทศได้เพียงแต่รายงานเรื่องนี้ หลังจากมีการประกาศการลงสมัครรับตำแหน่งของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี อย่างเป็นทางการ โดยสามารถคาดเดาได้ว่าเป็นการละเว้นเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมายห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ89

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างปลายปี 2562 และต้นปี 2563 ปรากฏการใช้แฮชแท็กจำนวนมากอย่างแพร่หลายเพื่อตั้งคำถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บนทวิตเตอร์90 รวมไปถึงแฮชแท็กที่วิพากษ์วิจารณ์การปิดเส้นทางการเดินถนนเนื่องจากขบวนเสด็จ แฮชแท็กอีกอันหนึ่งเป็นการตอบโต้ประเด็นที่พระมหากษัตริย์มิให้ความสนับสนุนด้วยกำลังใจหรือเงินทุนในขณะที่ประเด็นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเนื่องจากโรคระบาด โดยแฮชแท็กนี้ได้รับการแชร์ไปทั่วกว่า 1.2 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมง แม้มิได้จัดการกับเรื่องนี้โดยตรง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตอบโต้โดยการเตือนประชาชนไม่ให้ละเมิดกฎหมายผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยการโพสต์ลงทวิตเตอร์ พร้อมแนบรูปกุญแจมือไว้ในโพสต์91

ข5: แหล่งข้อมูลในโลกออนไลน์ถูกควบคุมหรือบงการโดยรัฐบาลหรือตัวแสดงอื่นๆที่มีอำนาจเพื่อผลักดันผลประโยชน์ทางการเมืองบางประการหรือไม่ (0–4 คะแนน) (1/4)

โฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลเท็จ และการบงการเนื้อหาในโลกออนไลน์ถือว่าค่อนข้างพบเห็นได้เป็นปกติในประเทศไทย โดยมีคนเชื่อกันว่าองค์กรภาครัฐและพรรคการเมืองบางพรรคเป็นผู้ดำเนินการเผยแพร่ด้วยวิธีการหลากหลายเพื่อพุ่งเป้าโจมตีฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชาชนบางกลุ่ม ความพยายามของทางการในการกำจัดข้อมูลเท็จนั้นถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ เนื่องจากอนุญาตให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลลักษณะนี้โดยมีภูมิคุ้มกันจากความรับผิด

เนื้อหาในโลกออนไลน์ที่ถูกบงการ เป็นเท็จ และนำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างพรั่งพรูระหว่างช่วงการเลือกตั้งในปี 2562 เนื้อหาดังกล่าวส่วนใหญ่จะมุ่งทำลายชื่อเสียงของพรรคฝ่ายค้านและบุคคลที่มีชื่อเสียงโดดเด่น เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค“อนาคตใหม่” (อนค.) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ก้าวหน้า และผู้ลงสมัครแข่งขันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคดังกล่าว เป็นต้น รายงานของสถาบันอินเทอร์เน็ตประจำมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในเดือนกันยายน ปี 2562 ระบุว่าประเทศไทยมี “กองทัพไซเบอร์” ที่ปฏิบัติการร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง โดยมีสมาชิกเป็นเจ้าหน้าที่รับจ้างเต็มเวลาที่ได้รับการจ้างวานให้บงการพื้นที่ของข้อมูลต่างๆ ในนามของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง92 รายงานฉบับนี้พบหลักฐานว่าทีมเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการและทำงานเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่เป็นที่ต้องการมากกว่า โจมตีคู่แข่งทางการเมือง และปราบปรามเนื้อหาที่มีลักษณะวิพากษ์

บัญชีปลอมในประเทศไทย ซึ่งอาจถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติหรือควบคุมโดยมนุษย์ ส่วนใหญ่มักจะควบคุมบงการเนื้อหาในเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ เว็บไซต์ เพจเฟสบุ๊ค และช่องข่าวบางช่องที่เผยแพร่เนื้อหาเท็จและเอกสารปลอมระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 มีความเชื่อมโยงกับบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (NNC) 93 ซึ่งมีอดีตประธานเป็นสมาชิกของคสช. เพียงไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง มีคลิปเสียงปริศนาถูกเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดีย โดยตั้งใจระบุว่าธนาธรได้ร่วมสมคบคิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรซึ่งอยู่ระหว่างการลี้ภัย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ดำเนินการพิสูจน์แล้วว่าคลิปเสียงดังกล่าวถูกตัดต่อขึ้น หลังจากคลิปถูกเผยแพร่ออกอากาศผ่านช่องเนชั่นทีวี ซึ่งเป็นช่องที่สนับสนุนคสช.และอยู่ภายใต้บริษัท NNC94

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พรรค “ก้าวไกล” ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่สานต่องานของพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบตัวลงภายในเดือนเดียวกันนั้น กล่าวหารัฐบาลว่าได้ดำเนินปฏิบัติการเชิงข่าวสารในโลกออนไลน์ โดยใช้งบประมาณของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อันเป็นปีกด้านการเมืองของกองทัพไทยที่อยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี95 มีรายงานว่าการรณรงค์ป้ายสีในลักษณะนี้ใช้บัญชีออนไลน์ในการคุกคามและสร้างความเสียหายทางชื่อเสียงแก่ฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมเคลื่อนไหว รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทย ข้อมูลที่ได้รับการรายงานยังเน้นย้ำถึงบล็อกออนไลน์อันน่าสงสัยซึ่งแชร์ข้อมูลด้วยความมุ่งหมายในการเพิ่มความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม96 หลักฐานที่บ่งชี้ถึงการรณรงค์ป้ายสีนี้ประกอบไปด้วยเอกสารทางการของกอ.รมน. วีดีโอให้สัมภาษณ์ของผู้อ้างตนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ และบันทึกบทสนทนาจากกลุ่มไลน์ซึ่งมีการสนทนาเกี่ยวกับการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียที่ถูกปลอมขึ้นมาเพื่อพุ่งเป้าโจมตีคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล97 กอ.รมน. ยอมรับว่าเอกสารซึ่งสนับสนุนข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นของจริง แต่กล่าวอ้างว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นเพียงการทำงานเชิงประชาสัมพันธ์ที่มีเป้าหมายในการจัดการปัญหาข่าวปลอม98

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 กระทรวงดีอีเอสได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้นเพื่อกำจัดข้อมูลอันเป็นเท็จและนำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งละเมิดพ.ร.บ. คอมฯ โดยเฉพาะมาตรา 14(2) และ 14(3) (ดู ค2)99 ศูนย์นี้มีเจ้าหน้าที่กว่า 30 คนและมีขอบเขตการทำงานอันกว้างขวางในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งครอบคลุมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ สินค้าเถื่อน นโยบายรัฐบาล และเนื้อหาประเภทอื่นๆซึ่งส่งผลกระทบต่อ “ความสงบและความเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี และความมั่นคงแห่งชาติ”100 อีกทั้งศูนย์นี้ยังมีพนักงานที่มาจากรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมอย่าง TOT และ CAT Telecom อีกด้วย101 นอกจากการชี้ระบุข้อมูลซึ่งสามารถสร้างความเข้าใจผิดหรือความเสียหายต่อภายลักษณ์ของประเทศแล้ว ศูนย์แห่งนี้ยังทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกมองว่าช่วย “แก้ไข” สิ่งเหล่านั้นผ่านเว็บไซต์ บัญชีโซเชียลมีเดีย (รวมไปถึงบัญชีไลน์ทางการ) ของศูนย์ และช่องทางข่าวต่างๆ102

ผู้สังเกตการณ์บางราย รวมไปถึงแกนนำพรรคอนค. ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมิได้ทำงานเพื่อกำจัดข้อมูลอันเป็นเท็จที่พุ่งเป้าโจมตีพรรคฝ่ายค้าน103 ในทางกลับกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้พุ่งเป้าจัดการกับผู้ใช้ที่โพสต์เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจแทน (ดู ค3) ในช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม มีตัวอย่างของการตีตราอย่างไม่ถูกต้องแม่นยำในการชี้ระบุข้อมูลอันเป็นเท็จหรือสามารถนำไปสู่ความเข้าใจผิด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ระบุว่ารายงานของ “ข่าวสด” มีข้อมูลเท็จ บทความข่าวนี้เขียนถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากสหราชอาณาจักรในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยอ้างอิงถึงข้อมูลที่ได้รับมาจากเพจเฟสบุ๊คของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน104 ศูนย์แห่งนี้ได้ชี้แจงเพิ่มเติมในภายหลังว่ามีความผิดพลาดในกระบวนการทำงาน จึงทำให้บทความดังกล่าวถูกชี้ระบุว่ามีข้อมูลเท็จแม้จะไม่เป็นความจริง

ข6: มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจหรือกลไกการกำกับดูแลซึ่งส่งผลในทางลบต่อความสามารถของผู้ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์หรือไม่ (0–3 คะแนน) (2/3)

สื่อจำนวนมากเผชิญความยากลำบากในการหารายได้จากค่าโฆษณาเพื่อค้ำจุนตนเอง ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดสำหรับสื่อเหล่านี้ในการเผยแพร่เนื้อหาที่หลากหลาย มีการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติในช่วงระยะเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม โดยเป็นกฎหมายที่กำหนดโทษปรับเงินจำนวนมากสำหรับการละเมิดฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งอาจลดทอนจำกัดทรัพยากรของสื่อเหล่านี้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม อีกทั้ง ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้ใช้คำพูดในลักษณะที่ชักจูงให้สื่อต่างๆ ไปขึ้นทะเบียนกับภาครัฐอีกด้วย

ร่างกฎหมายดังกล่าว หรือ พระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้รับการเสนอขึ้นมาในฐานะกฎหมายเพื่อปฏิรูปสื่อในตอนต้น คณะรัฐมนตรีอนุมัติกฎหมายในเดือนธันวาคม 2561105 ในขณะนี้กระบวนการยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาในช่วงเดือนมกราคม 2563106 และยังคงไม่ผ่านจวบจนถึงช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม กฎหมายนี้จะจัดตั้งให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต้องรับผิดชอบด้านการออกแนวทางปฏิบัติเพื่อกำกับดูแลการทำงานของนักข่าวและสื่อมวลชน107 สภาวิชาชีพแห่งนี้ยังมีอำนาจในการพิจารณาข้อร้องเรียนและสามารถสั่งปรับเงินองค์กรซึ่งทำหน้าเป็นสื่อในทางกฎหมายเป็นจำนวนอย่างน้อย 1,000 บาท (33 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวัน หรือปรับนักข่าวรายบุคคลอย่างน้อย 100 บาท (3 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวันได้ ร่างพระราชบัญญัติยังระบุนิยามของ “สื่อ” ไว้อย่างคลุมเครือ โดยสามารถตีความให้หมายรวมถึงเพจโซเชียลมีเดียและใครก็ตามที่เผยแพร่เนื้อหาเป็นประจำให้กับผู้เสพเนื้อหาในวงกว้าง108 ร่างฉบับนี้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงการออกประกาศกระทรวงต่างๆ

ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้แสดงถึงเจตจำนงค์ในการตรวจสอบปริมาณรายได้จากการโฆษณาที่สื่อดิจิทัลได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อรูปแบบดั้งเดิม 109 และการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานทางเครือข่ายของบริษัทโทรคมนาคมโดยสื่อเหล่านี้ ในเดือนเมษายน 2562 หลังจากได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้และผู้เชี่ยวชาญหลายคน กสทช.ได้ยกเลิกแผนการที่จะเก็บภาษีจากธุรกิจที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายโทรคมนาคม (Over The Top – OTT) ซึ่งจะเป็นการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยกำหนดมูลค่าผ่านปริมาณแบนด์วิดท์ที่ใช้ไป 110 อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติที่เข้ารับการพิจารณาในสภาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กลับตั้งข้อบังคับให้ผู้ให้บริการทางดิจิทัลจากต่างชาติต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากรายได้ ในกรณีที่ธุรกิจดังกล่าวมีรายได้สูงกว่า 1.8 ล้านบาท (59,500 ดอลลาร์) ต่อปี111

ในลักษณะใกล้เคียงกัน กระทรวงดีอีเอสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลธุรกิจที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายโทรคมนาคมในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ งานการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียนประจำปี 2562 112 แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำเสร็จภายในปี 2563113 จะมีการระบุให้เก็บภาษีเงินได้ในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ และสร้างศูนย์แห่งใหม่ขึ้นสำหรับการควบคุมดูแลและกลั่นกรองเนื้อหา114

ข7: ภูมิทัศน์ด้านสารสนเทศในโลกออนไลน์ขาดความหลากหลายหรือไม่ (0–4 คะแนน) (2/4)

การเปลี่ยนแปลงคะแนน: คะแนนข้างต้นเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 2 เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นของเนื้อหาที่หลากหลายในระดับพอประมาณในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาในสื่อข่าวต่างๆ และในโซเชียลมีเดียด้วย

มุมมองอันหลากหลายซึ่งสามารถพบเห็นได้ในโลกออนไลน์ ยังคงถูกจำกัดด้วยกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติอันกดขี่ โดยรวมไปถึงส่วนที่พุ่งเป้าไปที่การควบคุมเนื้อหาออนไลน์ ลบเนื้อหาต่างๆ สร้างข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และการเซ็นเซอร์ตนเอง (ดู ข2, ข4, ข6, และ ค3). อย่างไรก็ดี โซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อดิจิทัลได้เปิดโอกาสให้มีการแชร์ข้อมูลซึ่งปกติอาจถูกจำกัดการเผยแพร่ในสื่อดั้งเดิม และประเทศไทยก็มีบรรยากาศในโซเชียลมีเดียที่ค่อนข้างครึกครึ้น

รายงาน “ดิจิทัล 2020” ซึ่งจัดทำโดย วีอาร์โซเชียล (We Are Social) บริษัทด้านครีเอทีฟ และฮูทสวีท (Hootsuite) แพลตฟอร์มจัดการโซเชียลมีเดีย ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียประมาณ 52 ล้านคนในช่วงเวลาปลายปี 2562 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปีนั้นคือเฟสบุ๊ค ตามมาด้วยยูทูป ไลน์ และอินสตาแกรม 115 เนื่องด้วยมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมนอกโลกออนไลน์ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม นักกิจกรรมเคลื่อนไหว และเยาวชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงหันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและแสวงหาผู้ร่วมสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน116

สำนักข่าวซินหัว ซึ่งดำเนินกิจการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับกลุ่มสื่อมวลชนไทยหลายกลุ่ม เช่น วอยซ์ ออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์, สนุก, มติชน กรุ๊ป, และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ เป็นต้น ซินหัวแปลบทความเป็นภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์กรภาคี เพื่อขยายฐานการเข้าถึงรายงานข่าวของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอาจนำไปสู่การจำกัดความหลากหลายของเนื้อหาได้ 117 ทั้งนี้ ระดับอิทธิพลของรายงานข่าวเหล่านี้ต่อผู้บริโภคข่าวในประเทศไทยยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ข8: เงื่อนไขต่างๆเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้ในการเคลื่อนไหว จัดตั้งชุมชน และรณรงค์โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองและสังคมหรือไม่ (0–6 คะแนน) (3/6)

โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความ และเว็บรณรงค์ออนไลน์เป็นที่สามารถเข้าถึงได้และเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางดิจิทัล แม้ว่าจะต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทางอาญาและการคุกคามแบบพุ่งเป้าหรือความรุนแรงที่คอยขัดขวางการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวดังกล่าวในทางปฏิบัติ (ดู ค3 และ ค7)

ตามปกติแล้ว การพูดคุยแลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์และการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยนัก (ดู ข4) แม้กระนั้น หลังจากช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม ระหว่างช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงเดือนสิงหาคม 2563 การชุมนุมประท้วงมีผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการจัดตั้งและเคลื่อนไหวของการชุมนุมต่างๆ (ดู ข2)118 ยกตัวอย่างเช่น แฮชแท็กซึ่งแปลว่า “ถ้าการเมืองดี” ได้ขึ้นติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ได้กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าการเมืองควรเป็นอย่างไรในประเทศนี้ หากสถาการณ์ทางการเมืองมั่นคงและเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้119

การบังคับให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหว ต้องสูญหายไปในประเทศกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ส่งผลให้การเคลื่อนไหวทางออนไลน์ขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ผ่านการใช้แฮชแท็ก #SaveWanchalearm ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายแม้ในช่วงกว่าหนึ่งเดือนให้หลัง120

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังใช้เว็บ change.org อย่างค่อนข้างแข็งขัน ในช่วงต้นปี 2562 กว่า 70,000 คนได้ลงชื่อรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลได้ปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลบาห์เรนให้ส่งตัวฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนผู้ที่อยู่ระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองในประเทศออสเตรเลีย ให้กลับไปยังประเทศบาห์เรน121

ในช่วงระหว่างการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 กฎระเบียบอันคลุมเครือและมีข้อจำกัด ซึ่งบังคับใช้โดยกกต. ได้จำกัดขอบข่ายการใช้เครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง122 กฎเหล่านี้บังคับให้พรรคการเมืองต้องแจ้งกกต. ว่าจะเผยแพร่เนื้อหาใดและเมื่อไหร่ นอกจากนี้ กกต. ยังจำกัดประเภทของเนื้อหาที่สามารถโพสต์ในโซเชียลมีเดียได้ โดยอนุญาตให้โพสต์เพียงแค่ชื่อ รูปภาพ พรรคการเมืองที่สังกัด โลโก้พรรค แพลตฟอร์มด้านนโยบาย สโลแกน และข้อมูลประวัติส่วนตัวของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น พรรคการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถกดไลค์หรือแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ลงสมัครรายอื่นในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาทหรือมีข้อมูลเท็จ การละเมิดกฎมีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (330 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือทั้งคู่123 ผู้ลงสมัครบางคน เช่น สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้จัดการปัญหานี้ด้วยการปิดเพจเฟสบุ๊คเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ124 หลังจากการเลือกตั้ง ในเดือนเมษายน 2562 กกต. ได้ฟ้องร้องนักกิจกรรมเคลื่อนไหวในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยเหตุที่ไปข้องเกี่ยวกับการรณรงค์ในเว็บ change.org125 หน้าเว็บดังกล่าวได้กล่าวหาคณะกรรมการว่าฉ้อโกงและตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำของกรรมการบางคน โดยในที่สุดสามารถรวบรวมลายเซ็นได้ 865,000 ลายเซ็น126

ค. การละเมิดสิทธิของผู้ใช้

ยังคงมีรายงานเรื่องการบังคับให้นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะเดียวกันประชาชนในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความรุนแรงทางกายภาพและการขู่เข็ญเพราะกิจกรรมทางออนไลน์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงถูกดำเนินคดีและจำคุกเนื่องจากการแสดงออกในโลกออนไลน์ระหว่างช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม บทบัญญัติต่างๆในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างการระบาดของโควิด-19 ได้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและถูกใช้เพื่อจับกุมประชาชนหลายคนจากการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย

ค1: รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูล และเสรีภาพสื่อ ซึ่งรวมไปถึงในพื้นที่อินเทอร์เน็ต หรือไม่ และกฎหมายเหล่านี้ถูกบังคับใช้โดยฝ่ายตุลาการที่ขาดความเป็นอิสระหรือไม่ (0–6 คะแนน) (0/6)

การเปลี่ยนแปลงคะแนน: คะแนนข้างต้นลดลงจาก 1 เป็น 0 เนื่องจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อในทางออนไลน์ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคระบาดภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเนื่องจากความไม่เป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ

รัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารหลังจากการรัฐประหารปี 2557 เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2560 ซึ่งนับเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากประชามติในระดับชาติซึ่งถูกควบคุมอย่างแน่นหนา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้ามาบังคับใช้แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยรัฐบาลทหารเป็นผู้นำเข้ามาใช้เช่นกัน ทั้งนี้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งให้อำนาจคสช. อย่างที่ไม่ต้องได้รับการตรวจสอบ สำหรับการออกคำสั่งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนกระทั่งรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เริ่มเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในเดือนกรกฎาคม 2562 หลังจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมของปีนั้น127

รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มาตรา 25 ได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่าสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงได้รับการรับประกัน “ตราบที่มิได้ถูกห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ” และการใช้สิทธิเหล่านั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ในช่วงวาระ 4 ปีครึ่งของคสช. รัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาได้ผ่านกฎหมายจำนวนมากเพื่อผนึกกำลังของคสช. โดยมีกฎหมายจำนวนมากลดประสิทธิภาพและความโปร่งใสขององค์กรกำกับดูแลและหน่วยงานรัฐบาลที่เป็นอิสระในนามของการ “ปฏิรูป” ระบบราชการและสื่อ

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำกัดทั้งเสรีภาพในการแสดงออกในโลกออนไลน์และเสรีภาพสื่อ พระราชกำหนด ซึ่งถูกประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ให้อำนาจที่กว้างขวางมากขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการจัดการผู้ใช้ที่เผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐ ความสงบและความเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเนื้อหาที่นับว่าเป็น “เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด”128 กฎหมายฉบับนี้บัญญัติโทษทางอาญาไว้และอนุญาตให้ภาครัฐออกคำสั่งแก่นักข่าว องค์กรสื่อ และกลุ่มสื่อ เพื่อ “แก้ไข” รายงานข่าวสารที่ภาครัฐมองว่าไม่ถูกต้อง (ดู ค2)

ฝ่ายตุลาการของประเทศไทยเป็นอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ ศาลต้องเผชิญกับการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเมืองและการทุจริตฉ้อโกง และมักล้มเหลวในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกตัวผู้ใช้ซึ่งโพสต์เนื้อหาที่วิพากษ์ฝ่ายตุลาการในโลกออนไลน์ (ดู ค3)129 ตัวชี้วัดสำคัญซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่เป็นอิสระโดยรวมของฝ่ายตุลาการคือ เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563130

ค2: มีกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาหรือความรับผิดทางแพ่งสำหรับกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์หรือไม่ (0–4 คะแนน) (0/4)

กฎหมายจำนวนมากกำหนดโทษทางอาญาและทางแพ่งอันหนักหนาสำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ และตำรวจกับสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงดำเนินคดีทางอาญาซึ่งละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างชัดเจนระหว่างช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม

กฎหมายพ.ร.บ. คอมฯฉบับแก้ไข ได้รับการอนุมัติในเดือนธันวาคม 2559 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2560 หนึ่งในบทบัญญัติต่างๆที่ได้รับการแก้ไขคือ มาตรา 14(1) ของร่างกฎหมายฉบับก่อนในปี 2550 ซึ่งห้ามการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญตีความมาตรานี้ว่าเป็นการพูดถึงอาญชากรรมทางเทคนิค เช่น การแฮ็ก เป็นต้น 131 แม้กระนั้น ผู้พิพากษามีความเข้าใจอย่างจำกัดเกี่ยวกับการนำกฎหมายมาใช้ในลักษณะนี้ และมาตรานี้มักถูกนำไปใช้ควบคู่กับโทษฐานหมิ่นประมาทเพื่อลงโทษเอาผิดกับการแสดงออก ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าการตีความนี้ส่งเสริมให้เกิดการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐและบรรษัทยักษ์ใหญ่ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อข่มขู่และปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ผู้บัญญัติกฎหมายมุ่งหมายจัดการกับการนำข้อกฎหมายนี้มาใช้ในทางที่ผิดโดยปรับเงื่อนไขให้ไม่สามารถใช้มาตรการนี้ควบคู่ไปกับข้อหาหมิ่นประมาทได้ 132 อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับแก้ไขยังคงมีถ้อยคำที่มีปัญหา นั่นคือคำว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ “อันเป็นเท็จ” และเพิ่มเติมคำว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ “ที่บิดเบือน” ดังนั้นจึงยังมีการตีความกฎหมายอย่างผิดๆอยู่ และบุคคลยังคงต้องเผชิญข้อหาต่างๆจากการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นเท็จในอินเทอร์เน็ต (ดู ค3) งานศึกษาโดยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสรุปไว้ว่า ระหว่างปี 2540 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 กว่าร้อยละ 25.47 ของคดี SLAPP ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางออนไลน์133

นอกจากนั้น พ.ร.บ. คอมฯฉบับแก้ไขได้ขยับขยายขอบเขตการเซ็นเซอร์ในช่องทางออนไลน์และปรับกรอบของกฎหมายสำหรับความรับผิดของสื่อกลาง (ดู ข3) ส่วนอื่นๆที่มีปัญหาของพ.ร.บ. คอมฯ เดิมก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมไปถึงมาตรา 14(3) ที่ทำกำหนดให้การเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่า “กระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งชาติ” เป็นความผิดทางอาญา

ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยได้กำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมสำหรับการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์อย่างชอบธรรม (ดู ค3) ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 116 ได้ระบุถึงโทษฐานยุยงปลุกปั่นและมาตรา 112 ระบุถึงโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563134 ข้อกำหนดซึ่งออกมาภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ทำให้การนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวผ่าน “ทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”135 ผู้ใดที่ฝ่าฝืนสามารถถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ. คอมฯ หรือมาตรา 18 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งตั้งเงื่อนไขไว้ว่าผู้ใดที่กระทำความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท (1,300 ดอลลาร์สหรัฐ)136 บุคคลจำนวนมากถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยบทบัญญัตินี้ (ดู ค3)

กฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุมนั้นรวมไปถึงร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งสามารถจำกัดทั้งเสรีภาพสื่อและการแสดงออกในโลกออนไลน์ด้วยวิธีลงโทษช่องที่ละเมิดจริยธรรมสื่อด้วยการปรับเงินไม่เกิน 50,000 บาท (1,700 ดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงต้นปี 2563 ร่างฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพิจารณาของวุฒิสภา (ดู ข6)137

ในร่างกฎหมายอีกฉบับสำหรับป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุ “พฤติกรรมอันตราย” การผลิตและเผยแพร่ข้อมูลซึ่งถูกพิจารณาว่าสามารถยั่วยุการกระทำทางเพศบางประเภท การกระทำชำเราเด็ก หรือการก่อการร้าย ถือเป็นความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท (23,000 ดอลลาร์สหรัฐ)138 ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาในช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม

ค3: บุคคลต่างๆถูกลงโทษเพราะการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์หรือไม่ (0–6 คะแนน) (1/6)

ภาครัฐยังคงใช้ประโยชน์จากมาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมฯ, ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายฉบับอื่นๆซึ่งถูกเขียนขึ้นอย่างกว้างๆ เพื่อปิดปากนักการเมืองฝ่ายค้าน นักกิจกรรมเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้ใช้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาดในการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีการอนุมัติให้จัดตั้งกองตำรวจไซเบอร์ใหม่ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กว่า 1,700 คน โดยกองดังกล่าวทำหน้าที่เฝ้าระวังอาชญากรรมทางไซเบอร์อันหมายรวมไปถึงอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ข่าวปลอม”139

ในเดือนธันวาคม 2562 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ชื่อว่า “นที” ถูกตัดสินลงโทษให้จำคุก 3 ปี โดยที่ได้รับการลดโทษเหลือ 2 ปี ในตอนแรก เขาถูกจับเมื่อเดือนกันยายน 2561 ด้วยมาตรา 14(3) และ 14(5) ของพ.ร.บ. คอมฯ และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเพราะได้โพสต์ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมคำวิจารณ์บนเฟสบุ๊ค140 เมื่อเดือนเมษายน 2563 นทีได้เสียชีวิตหลังจากการพยายามฆ่าตัวตาย 3 ครั้ง ศาลได้ปฏิเสธข้อถกเถียงของเขาที่ว่าคดีนี้สมควรยกฟ้องเนื่องจากเขาเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว141 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีบุคคลอีก 26 รายได้รับแจ้งข้อหาภายใต้พ.ร.บ. คอมฯ เพราะได้แชร์โพสต์ในเฟสบุ๊คซึ่งวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ142

การจับกุมเนื่องด้วยสิ่งที่ภาครัฐมองว่าเป็น “ข่าวปลอม” ได้มีจำนวนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่หลังจากการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ดู ข5)143 กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยพ.ร.บ. คอมฯในเดือนตุลาคม 2562 เพราะแชร์โพสต์ในเฟสบุ๊คซึ่งเน้นย้ำถึงชะตากรรมอันรุนแรงที่สถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศหลายแห่งต้องเผชิญ กาณฑ์ได้ลบโพสต์และบัญชีโซเชียลมีเดียของเขาทิ้งไปในเวลาต่อมา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เขาได้รับการประกันตัวด้วยเงินมูลค่า 100,000 บาท (3,300 ดอลลาร์สหรัฐ) และยังรอการพิจารณาคดีอยู่144 หากถูกตัดสินว่ากระทำผิด เขาอาจต้องรับโทษจำคุกถึง 5 ปีได้

ในอีกคดีหนึ่ง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “นิรนาม” ถูกจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องด้วยโพสต์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หลังถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ 10 คน ทั้งเขาและผู้ปกครองของเขาถูกซักถามเป็นเวลา 6 ชั่วโมงโดยที่ไม่มีหมายหรือข้อหา หลังจากนั้นเขาถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ. คอมฯ และในที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัว145 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 อัยการตัดสินใจไม่ดำเนินคดีต่อ146 แม้เช่นนั้น ไม่กี่วันต่อมา นิรนามถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมหลายกรรมด้วยพ.ร.บ. คอมฯ และถูกเรียกตัวไปซักถาม หากถูกตัดสินว่ากระทำผิด เขาอาจต้องโทษจำคุกถึง 40 ปีได้147

ผู้ใช้จำนวนมากถูกจับและดำเนินคดีจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จากการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 หรือการรับมือโรคระบาดของรัฐบาล148 ประชาชนอย่างน้อย 6 คนถูกจับและควบคุมตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากการแชร์ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ โดยในบางกรณีเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการออกหมายจับ149 ในเดือนมีนาคม บก.ปอท. ได้จับกุมประชาชนเพิ่มเติม 2 รายเนื่องจากแชร์ในทวิตเตอร์ว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคระบาดโควิด-19 ในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ150 เมื่อเดือนเมษายน มีประชาชนอีก 3 คนถูกจับกุมและถูกริบโทรศัพท์มือถือเพราะได้ระบุในเฟสบุ๊คว่าจะมีการบังคับใช้เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง151

ในอีกหนึ่งคดีความที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์การรับมือโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล ดนัย อุศมา ศิลปินชาวไทย ถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2563 เพราะได้เขียนในเฟสบุ๊คว่าเขาและผู้โดยสารรายอื่นๆ ที่เข้ามาจากประเทศสเปน มิได้ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองใดๆที่สนามบินสุวรรณภูมิ เขาถูกตั้งข้อหาด้วยมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ. คอมฯ และได้รับการประกันตัวออกมา152 การพิจารณาคดีนี้ยังคงไม่เสร็จสิ้นในช่วงท้ายของระยะเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม153 ในอีกกรณีหนึ่ง ตำรวจได้พยายามไต่สวนแอดมิน “แหม่มโพธิ์ดำ” เพจเฟสบุ๊คแนวสืบสวน เกี่ยวกับโพสต์ที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตในข่าวฉาวเรื่องการกักตุนหน้ากาก154 นักธุรกิจซึ่งถูกกล่าวหาว่ากักตุนหน้ากากและนักการเมืองนายหนึ่งจากพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อแอดมินเพจดังกล่าวไปแล้ว155

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังต้องเผชิญกับการจับกุมจากกิจกรรมในโซเชียลมีเดียซึ่งถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2563 หลังจากช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม (ดู ข8) กระทรวงดีอีเอสได้ยื่นคำร้องเกี่ยวกับการกระทำอาชญากรรมทางไซเบอร์ต่อปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยและผู้สร้างกลุ่มเฟสบุ๊ค “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” (ดู ข2)156 มีรายงานว่าสมาชิกของกลุ่มดังกล่าวตกเป็นเป้าของการฟ้องคดีเพิ่มเติมด้วยพ.ร.บ. คอมฯ และการข่มขู่และคุกคาม (ดู ค7)157

ฝ่ายตุลาการในประเทศไทยได้ข่มขู่ดำเนินคดีหมิ่นศาลเพื่อทำให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของศาลในโลกออนไลน์รู้สึกเกรงกลัว เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้เรียกตัวอาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์มาเพื่อซักถามหลังจากเขาได้โพสต์คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล158 ภายหลังศาลได้ตัดสินไม่ดำเนินคดีหมิ่นศาลต่อ

บริษัทเอกชนและบุคคทั่วไปก็มักฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมเคลื่อนไหว และนักข่าวจากการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทค้าสัตว์ปีกของไทย ได้ดำเนินคดีกับบุคคลหลายคนในปี 2562 และ 2563 เนื่องด้วยบุคคลเหล่านี้ได้แชร์ข้อกล่าวหาบริษัทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานหรือแม้เพียงแต่ได้แสดงความสนับสนุนจำเลยรายอื่นๆซึ่งถูกบริษัทพุ่งเป้าดำเนินคดีหมิ่นประมาท ในเดือนธันวาคม 2562 สุชาณี รุ่งเหมือนพร อดีตผู้สื่อข่าวช่องวอยซ์ทีวี ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องเธอเพราะโพสต์ในทวิตเตอร์ซึ่งกล่าวถึงข้อร้องเรียนที่แรงงานอพยพได้ยื่นส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ159 เธอได้รับการปล่อยตัวด้วยเงินประกัน 75,000 บาท (2,500 ดอลลาร์สหรัฐ) โดยยังคงรอการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาอยู่160

เมื่อเดือนตุลาคม 2562 บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญากับอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ซึ่งแชร์โพสต์ในทวิตเตอร์ 2 โพสต์เพื่อสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรีที่ต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาทจากบริษัท161 ในเดือนมิถุนายน บริษัทธรรมเกษตรได้ดำเนินคดีอาญากับอังคณา นีละไพจิตร เพิ่มเติมอีก 2 คดี162 โดยคาดว่าการพิจารณาคดีเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2563163

ในเดือนธันวาคม 2562 พุทธณี กางกั้น นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนประจำองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทเพราะได้แชร์โพสต์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันในทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์164 อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารก็ถูกดำเนินคดีเพราะแชร์โพสต์ในทวิตเตอร์เช่นเดียวกัน165 คดีทั้งสองกำลังดำเนินอยู่ ณ ช่วงท้ายของระยะที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม

ผู้ออกเสียงทั่วไปและผู้ลงสมัครแข่งขันจากพรรคการเมืองต้องเผชิญข้อหาจากพ.ร.บ. คอมฯ ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งปี 2562166 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 9 รายถูกดำเนินคดีในเดือนมีนาคมนั้นจากการแชร์ข้อมูล “เท็จ” เกี่ยวกับกกต.167 โดยที่ตำรวจอ้างว่าพวกเขาได้รับสารภาพว่ากระทำความผิด168 นักการเมือง 3 คนจากพรรคอนค. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน นั่นคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ไกลก้อง ไวทยการ, และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ถูกดำเนินคดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารผ่านไลฟ์ทางเฟสบุ๊ค แม้ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นจะถูกยกฟ้องไปในเดือนมีนาคม169 พงศกร รอดชมภู นักการเมืองจากพรรคอนค.อีกราย ได้ถูกดำเนินคดีจากการแชร์ภาพตัดต่อที่มุ่งเป้าทำลายชื่อเสียงของประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลทหารและรองนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 อัยการยังมิได้ดำเนินการสั่งฟ้องอย่างเป็นทางการและคดีนี้ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการสืบสวน พงศกรได้แจ้งว่าเขาลบภาพนั้นไปภายใน 3 นาทีหลังจากโพสต์ทันทีที่ทราบว่าเป็นรูปปลอม170 พรรณิการ์ วานิช โฆษกของพรรคอนค. ต้องเผชิญข้อหาในสองคดีจากพ.ร.บ. คอมฯ ข้อหาหนึ่งถูกฟ้องในเดือนธันวาคม 2562 เนื่องด้วยภาพตัดต่อของสโลแกนวันเด็กของนายกรัฐมนตรี171 และข้อหาที่สองถูกฟ้องในเดือนมีนาคม 2562 เนื่องด้วยโพสต์เฟสบุ๊คในปี 2556 ซึ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์172

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในแง่บวกในคดีลักษณะนี้เช่นกัน เมื่อเดือนมีนาคม 2562 อัยการปฏิเสธที่จะสั่งฟ้องนักวิชาการ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ด้วยมาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมฯ ในตอนต้น เธอถูกฟ้องในเดือนมิถุนายน 2562 เพราะแชร์ภาพของกองทัพจากการประท้วงในเชียงใหม่173 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ประชาชนจำนวนมากซึ่งเคยต้องโทษเพราะกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนเวลา174 ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวนั้น ประกอบไปด้วย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ถูกตัดสินลงโทษเพราะแชร์บทความของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (บีบีซี) ซึ่งเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว175 และธานัท ธนวัชรนนท์ นักร้องผู้รับโทษกว่าไปกว่ากึ่งหนึ่งของโทษจำคุกสิบปีสำหรับการปราศรัยของเขาในที่ชุมนุม ซึ่งถูกอัพโหลดลงในยูทูป176 ในเดือนมิถุนายน 2562 หลังจากช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม นักกิจกรรมเคลื่อนไหว ธเนตร อนันตวงษ์ ได้รับการยกฟ้องจากข้อหายุยงปลุกปั่น โดยที่ศาลได้พิพากษาว่าโพสต์เฟสบุ๊คทั้ง 5 ที่เขาวิพากษ์วิจารณ์คสช. เป็นการแสดงออกทางการเมืองภายใต้การคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ177 ธเนตรได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษ 3 ปี 10 เดือนในเรือนจำ178

ค4: รัฐบาลได้สร้างข้อจำกัดสำหรับการสื่อสารหรือการเข้ารหัสอย่างเป็นนิรนามหรือไม่ (0–4 คะแนน) (2/4)

รัฐบาลได้พยายามจำกัดการเข้ารหัสและประสบความสำเร็จในบางส่วนในการจำกัดความเป็นนิรนามในโลกออนไลน์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กสทช. ได้สั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เก็บข้อมูลลายนิ้วมือหรือภาพสแกนใบหน้าของผู้ลงทะเบียนซิมการ์ด ผู้ใช้ซิมการ์ดรายใหม่ทุกคนต้องผ่านกระบวนการดังกล่าว โดยที่ผู้ใช้ซิมการ์ดรายเก่าจะต้องลงทะเบียนใหม่อีกรอบ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังแหล่งรองรับในส่วนกลางที่กสทช179 ในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีการก่อความไม่สงบมาอย่างช้านาน นโยบายนี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดยิ่งกว่าที่อื่น มาตรการการยืนยันตัวตนแบบใหม่ซึ่งใช้ระบบสแกนใบหน้าและเทคโนโลยีชีวมาตรเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2562 ในพื้นที่ 3 จังหวัด นั่นคือยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงอีก 3 อำเภอในจังหวัดสงขลา180 ประกาศคำสั่งนี้ระบุไว้ว่าผู้ที่ไม่ลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านระบบสแกนใบหน้ากับบริษัทผู้ให้บริการ AIS, TrueMove H, หรือ DTAC จะไม่สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้181 ดังจะเห็นได้ว่ามีโทรศัพท์จำนวนมากถูกตัดสัญญาณตั้งแต่เดือนเมษายน 2563182 องค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แจ้งเตือนว่าข้อบังคับเหล่านี้สามารถบ่อนทำลายความเป็นส่วนตัว จำกัดเสรีภาพอื่นๆ และอาจนำไปสู่การคัดกรองและสุ่มบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานของอัตลักษณ์กับประชากรมลายูมุสลิมในท้องที่ได้183

เมื่อต้นปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินการบั่นทอนการเข้ารหัสข้อมูล มาตรา 18(7) ของพ.ร.บ. คอมฯฉบับแก้ไขให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้บุคคล “ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด” โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายคำสั่งจากศาล184 แม้ว่าบริษัทบางแห่งไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้ กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษไว้สำหรับผู้ให้บริการหรือบุคคลที่ไม่สามารถถอดรหัสลับของเนื้อหาได้ตามคำสั่ง องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนล ได้รายงานเกี่ยวกับวิธีอื่นๆ ที่ภาครัฐของไทยอาจใช้ในการขัดขวางการเข้ารหัสข้อมูล เช่น การปลอมแปลงเว็บไซต์ที่มีการรักษาความปลอดภัยเพื่อขัดขวางการสื่อสารและการเข้ารหัส และการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้รหัสข้อมูลระดับต่ำ (downgrade attacks) ซึ่งบังคับให้การสื่อสารของผู้ใช้ด้วยโปรแกรมจัดการอีเมลผ่านพอร์ต (port) ที่ตั้งค่าเริ่มต้นแบบไม่ได้เข้ารหัสไว้ (ดู ค8)185 กลุ่มนี้ได้ร้องถามบริษัทไมโครซอฟต์ที่ให้ความไว้วางใจกับใบรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของไทย (Thailand National Root Certificate) จนส่งผลให้อาจมีมาตรการที่บ่อนทำลายความปลอดภัยของผู้ใช้ที่เข้าไปเยี่ยมชมบางเว็บไซต์ได้ ในการนี้ ไมโครซอฟต์ได้ระบุว่ามีหน่วยงานซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือได้ตรวจสอบใบรับรองเหล่านี้ก่อนที่บริษัทจะอนุมัติรองรับแล้ว186

ค5: การสอดแนมกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตโดยภาครัฐลิดรอนสิทธิของผู้ใช้ในด้านความเป็นส่วนตัวหรือไม่ (0–6 คะแนน) (1/6)

รัฐบาลเฝ้าติดตามโซเชียลมีเดียและการสื่อสารส่วนตัวอย่างแข็งขัน โดยหากมีกลไกตรวจสอบ ก็มีอยู่ในรูปแบบที่ถูกจำกัด มีชุดนโยบายอันซับซ้อนที่มุ่งเป้าในการควบคุมการสื่อสารในโลกออนไลน์ แม้ว่าประเทศไทยยังคงขาดกรอบกฎหมายที่วางกลไกด้านความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการสอดแนมโดยรัฐบาล

มาตรา 4(2) ของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ได้งดเว้นให้ข้อมูลที่ถูกเก็บภายใต้อำนาจของพ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ไม่จำเป็นต้องได้รับมาตรการคุ้มกันความเป็นส่วนตัวที่ตามปรกติจะได้รับการรับรองด้วยกฎหมายคุ้มครองข้อมูล (ดู ค6)187 พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลและให้อำนาจอันกว้างขวางแก่รัฐบาลในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่มีกลไกการพิจารณาทบทวนโดยศาลหรือการตรวจสอบในรูปแบบอื่นๆ188 สำหรับประเด็นที่ได้รับการระบุให้เป็น “ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง” เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ และดึงและจัดเก็บสำเนาข้อมูลที่ได้มาไว้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งคนที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บข้อมูลเช่นนี้ และไม่มีการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในการดูแลวิธีการจัดการข้อมูล189

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีต่างๆ โดยการนำแชทส่วนตัวมาใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ถึงแม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่เข้าถึงบันทึกการแชทในคดีเหล่านี้ได้อย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็ได้สร้างบัญชีปลอมเพื่อเข้าร่วมกลุ่มแชทต่างๆ หรือแม้กระทั่งเพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้รายอื่นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลทหาร190 ในหลายกรณี บุคคลซึ่งถูกเรียกตัวหรือจับกุมได้ถูกเจ้าหน้าที่ริบสมาร์ทโฟนไปเพื่อเข้าไปดูบัญชีโซเชียลมีเดีย (ดู ค3)

ร่างกฎหมายจำนวนมากเบิกทางให้รัฐบาลสามารถสอดแนมได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายพิจารณาความอาญาฉบับแก้ไขซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาในปี 2563 ได้ให้อำนาจในการสอดแนมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับอนุญาต ร่างกฎหมายนี้ระบุถึงเงื่อนไขให้มีหลายประเภทความผิดซึ่งหากภาครัฐสงสัยว่าได้มีการกระทำเกิดขึ้น ก็จะสามารถดำเนินการสอดแนมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ความผิดที่เข่าข่ายดังกล่าวหมายรวมถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดที่เป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม อีกทั้งยังมีการระบุประเภทกว้างๆ อย่างเช่น อาชญากรรมที่มีความ “ซับซ้อน” อีกด้วย191 ร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุ “พฤติกรรมอันตราย” ได้กำหนดบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายสั่งในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวใดๆ ซึ่งถือว่ายั่วยุพฤติกรรมดังเช่น การกระทำทางเพศบางประเภท การกระทำชำเราเด็ก หรือการก่อการร้าย เป็นต้น

หน่วยงานรัฐครอบครองเทคโนโลยีสำหรับการสอดแนมไว้มากมาย ข้อมูลจากเอกสารที่หลุดออกมาได้เขียนไว้ว่าในระหว่างปี 2555 ถึง 2557 บางหน่วยงานได้ซื้อซอฟต์แวร์เพื่อสอดส่องจับตามองจากบริษัทแฮกกิ้ง ทีม (Hacking Team) ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงมิลาน 192 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าเครื่องมือดักข้อมูลการสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร193 องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนลระบุว่าใบอนุญาตเหล่านั้นบ่งบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่มีการนำเอาเครื่องตรวจจับหมายเลขยืนยันตัวตนสากลสำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (international mobile subscriber identity) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับดักข้อมูลจากโทรศัพท์ทั้งหมดในบริเวณใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นจุดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือไม่ก็ตาม

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเก็บข้อมูลผ่านการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยข้อมูลจะได้รับการตรวจสอบโดยคนที่เป็นผู้เฝ้าติดตามเนื้อหา (ดู ข5)194 การเฝ้าติดตามอย่างละเอียด โดยเฉพาะในบัญชีโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว และยังไม่มีแนวทางปฏิบัติซึ่งถูกร่างขึ้นมาอย่างชัดเจนและกลไกตรวจสอบที่โปร่งใสเพื่อรับรองว่าข้อมูลที่ถูกเก็บจะได้รับการคุ้มครอง

พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งเริ่มต้นบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2562 ให้อำนาจแก่สำนักข่าวกรองแห่งชาติสั่งหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลทั่วไปให้นำส่งข้อมูลใดๆที่มีผลกระทบต่อ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ซึ่งเป็นศัพท์ที่ไม่ได้มีคำจำกัดความไว้ (ดู ค6) หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลมิได้นำส่งข้อมูลนั้น สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ”ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว195 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 กระทรวงดีอีเอสได้สร้างแอปพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นเพื่อติดตามและเฝ้าระวังประชาชนที่เดินทางกลับมาประเทศไทยจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง แอปพลิเคชั่นนี้บังคับให้ต้องนำส่งข้อมูลเช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เลขหนังสือเดินทาง โดยที่ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศทุกรายต้องใช้ ถึงแม้จะมีรายงานว่าข้อมูลที่เก็บไปจะถูกเก็บไว้เพียงจนกว่าจะเสร็จสิ้นระยะการกักตัว 14 วัน196 การเก็บข้อมูลและความไม่แน่นอนว่าข้อมูลนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไรและโดยใคร ก่อให้เกิดความห่วงกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ197

ค6: ผู้ให้บริการและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ถูกบังคับให้ช่วยเหลือรัฐบาลในการสอดส่องเฝ้าดูการสื่อสารของผู้ใช้บริการหรือไม่ (0–6 คะแนน) (1/6)

จากข้อมูลขององค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนล การสอดแนมได้รับการช่วยเหลือเกื้อหนุนด้วย “การควบคุมโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของรัฐบาลและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต”198 มาตรา 15 ของพ.ร.บ. คอมฯ กำหนดข้อผูกมัดให้ผู้ให้บริการต้องเฝ้าติดตามข้อมูลของผู้ใช้ โดยพวกเขาอาจต้องระวางโทษได้ด้วยมาตรา 14 หากถูกพบว่า “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ให้มีการกระทำความผิดดังกล่าว199 การไม่เฝ้าระวังสิ่งที่ผู้ใช้แชร์ ไม่ลบข้อมูลนั้นทิ้ง หรือไม่ส่งต่อข้อมูลของผู้ใช้ให้รัฐบาล อาจทำให้ถูกมองว่ากำลังสนับสนุนหรือให้ความยินยอมต่อกิจกรรมที่ถูกรัฐบาลจับจ้อง อีกทั้ง พ.ร.บ. คอมฯฉบับแก้ไขได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการสั่งผู้ให้บริการให้เก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นมาจากพ.ร.บ. ฉบับปี 2550 ที่กำหนดไว้เพียง 1 ปี มาตรา 26 ของกฎหมายนี้ยังระบุไว้อีกว่าผู้ให้บริการต้องเก็บข้อมูลไว้เป็นเวลาอย่างต่ำ 90 วัน การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือรัฐบาลอาจทำให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท (6,320 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือค่าปรับรายวัน 5,000 บาท (158 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวันจนกว่าจะปฏิบัติตาม

ในเดือนตุลาคม 2562 กระทรวงดีอีเอสได้พยายามบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยการจัดเก็บข้อมูลของกฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยออกคำสั่งให้ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆซึ่งมีบริการไวไฟฟรี ต้องเก็บข้อมูลของผู้ใช้ อันหมายรวมไปถึงชื่อ ประวัติการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต และข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ เป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน200 คำสั่งนี้มุ่งเป้าเพื่อเก็บรักษาข้อมูลสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและเพื่อจัดการปัญหาการแชร์เนื้อหาอันเป็นเท็จซึ่งนับเป็นความผิดภายใต้มาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมฯ และกฎหมายฉบับอื่นๆ (ดู ข5 และ ค2)

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีกำหนดเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ได้มีการเลื่อนบังคับใช้บางส่วนของกฎหมายฉบับนี้ออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564201 กฎหมายฉบับนี้วางกรอบสำหรับธุรกิจในการเก็บ นำไปใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล202 กฎหมายนี้ครอบคลุมถึงผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศ ในกรณีที่เป็นผู้ประมวลข้อมูลของประชาชนไทย อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัตินี้กำหนดถึงข้อยกเว้นสำหรับกิจกรรมบางประเภทและสำหรับภาครัฐ มาตรา 4 งดเว้นการบังคับใช้ในกรณีของกิจกรรมใดๆที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอาจหมายถึงความปลอดภัยทางการเงินไปจนถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ อีกทั้ง ยังให้การยกเว้นแก่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการใดๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภาดังกล่าว203

แม้ว่า โดยปกติ คำขอเข้าถึงข้อมูลซึ่งเก็บไว้อย่างส่วนตัวจำเป็นต้องมีหมายสั่งรองรับ แต่มติคณะรัฐมนตรีในปี 2555 กำหนดให้คดีหลายประเภท อย่างเช่น การละเมิดพ.ร.บ. คอมฯ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระเบียบซึ่งกำกับการทำงานของดีเอสไอระบุไว้ว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถดักข้อมูลสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและเก็บข้อมูลส่วนตัวโดยไม่มีหมายจากศาล นั่นหมายความว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับการแสดงออกอาจตกเป็นเป้ามากเป็นพิเศษ ถึงแม้ในกรณีที่จำเป็นต้องมีคำสั่งจากศาล ผู้พิพากษาไทยก็มักอนุมัติคำขอในลักษณะนี้โดยมิได้ไตร่ตรองอย่างจริงจัง

พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก็สามารถให้อำนาจแก่สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติในการบังคับให้ผู้ให้บริการส่งข้อมูลที่ร้องขอให้ แม้ว่าจะมีข้อมูลอ่อนไหวหรือส่วนตัวอยู่ในนั้นก็ตาม (ดู ค5).

ระหว่างช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ปรากฏรายงานข่าวว่าหน่วยงานของรัฐบาลและผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ริเริ่มแบ่งปันข้อมูลกันมากขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2562 เอกสารที่หลุดจากการประชุมระหว่างกรมควบคุมโรค, กระทรวงดีอีเอส, กสทช. และกระทรวงกลาโหม (กห.) มีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลวางแผนใช้เครื่องมือบิ๊กดาต้า (Big Data) ในการเฝ้าระวังไวรัส และรัฐบาลจะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่อยู่ผ่านผู้ให้บริการโทรคมนาคม เช่น AIS, DTAC, TRUE, CAT, และ TOT204 กห. ปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว แม้จะได้ยืนยันว่ามีการเข้าพบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เกี่ยวกับการเฝ้าติดตามไวรัส205 ตามรายงานข่าว มีการร้องขอกสทช.และกระทรวงดีอีเอสจัดการเรื่องการติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่

ทั้งเฟสบุ๊คและกูเกิลได้รายงานว่ารัฐบาลมีคำร้องขอเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้บางส่วนในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2562 กูเกิลได้รับ 1 คำขอสำหรับเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ 3 รายหรือบัญชี แต่ไม่ได้ดำเนินการตามคำขอดังกล่าวระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 206 ในช่วงเวลาเดียวกัน เฟสบุ๊คได้รับ 107 คำขอสำหรับเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ 125 รายหรือบัญชี และได้ดำเนินการตามให้รัฐบาลเข้าถึงร้อยละ 71 ของข้อมูลที่ร้องขอไป207 ไลน์ แอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความที่นิยมแพร่หลายที่สุดในประเทศไทย รายงานว่าไม่ได้รับคำขอใดๆจากหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ในรอบหกเดือนหลังของปี 2562208

การให้ข้อมูลผู้ใช้แก่ภาครัฐโดยผู้ให้บริการเคยนำไปสู่การจับกุมและควบคุมตัวมาก่อน ในกรณีหนึ่งซึ่งเป็นการนำข้อมูลผู้ใช้ที่เข้าถึงไปใช้ในทางที่ผิดอย่างโจ่งแจ้ง บริษัท TrueMove H ได้ให้ข้อมูลที่อยู่และข้อมูลระบุตัวตนของผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า “นิรนาม” กับตำรวจ ผู้ใช้รายนี้ปัจจุบันถูกดำเนินคดีเนื่องจากโพสต์เนื้อหาซึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และต้องระวางโทษหนัก หากถูกตัดสินว่ามีความผิด (ดู ค3)209

ค7: บุคคลทั่วไปต้องถูกข่มขู่ด้วยวิธีนอกกฎหมายหรือความรุนแรงทางกายภาพโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือตัวแสดงอื่นๆ เพื่อล้างแค้นเอาคืนจากการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์หรือไม่ (0–5 คะแนน) (0/5)

ช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม เกิดเหตุการณ์ที่มีการข่มขู่ การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนักกิจกรรมเคลื่อนไหวซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย โดยเหตุการณ์เหล่านี้มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับกิจกรรมที่พวกเขาเคลื่อนไหวทั้งในโลกออนไลน์และกิจกรรมอื่นๆ

หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายสิบคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อยืนหยัดการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของการวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยและรณรงค์ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2562 นักกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ 3 คน นั่นคือ สยาม ธีรวุฒิ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, และกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ถูกบังคับให้สูญหายไปในประเทศเวียดนามหลังจากเดินทางออกจากประเทศลาว กลุ่มภาคประชาสังคมได้รายงานว่าพวกเขาถูกนำตัวส่งให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทย โดยรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้210 ในช่วงท้ายของระยะที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน211

ในเดือนธันวาคม 2561 นักกิจกรรมเคลื่อนไหวซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์อีกสามคน นั่นคือ สุรชัย แซ่ด่าน, ไกรเดช ลือเลิศ, และชัชชาญ บุปผาวัลย์ ได้หายตัวไปในขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว212 เมื่อเดือนมกราคม 2562 ร่างของไกรเดชและชัชชาญถูกพบที่ชายฝั่งแม่น้ำโขง ณ ชายแดนประเทศไทยและประเทศลาว ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าสุรชัยอยู่ที่ใด องค์การสหประชาชาติและองค์กรภาคประชาสังคมได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้213 แต่รัฐบาลไทยได้ปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบใดๆ214

ในเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้วิพากษ์ผู้วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ถูกบังคับให้สูญหายไปที่นอกบ้านของเขาในประเทศกัมพูชา215 เขาได้ถูกดำเนินคดีภายใต้พรบ คอมฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา และได้หายตัวไปหนึ่งวันหลังจากโพสต์วีดีโอที่เขาวิจารณ์นายกรัฐมนตรีของไทย ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าวันเฉลิมอยู่ที่ใดจากข้อมูลในเดือนกันยายน 2563216

นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างขันแข็งในโลกออนไลน์ต้องถูกทำร้ายร่างกายทั้งภายในและนอกประเทศไทยระหว่างช่วงเวลาที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม เช่น สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกทำร้ายอย่างสาหัสสองครั้งในเดือนมิถุนายน 2562217 โดยตำรวจยื่นเงื่อนไขว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อเลิกทำกิจกรรมเคลื่อนไหว218 เอกชัย หงส์กังวานถูกทำร้ายอย่างน้อย 7 ครั้งตั้งแต่เดือนมกราคม 2561219 และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้อาศัยอยู่ ณ ประเทศญี่ปุ่น ถูกทำร้ายร่างกายด้วยสารเคมีในเดือนกรกฎาคม 2562220 ตำรวจไทยมิได้ดำเนินการสืบสวนอย่างรอบด้านเกี่ยวกับเหตุการณ์การข่มขู่คุกคามและการทำร้ายร่างกายเหล่านี้ หรือไม่ก็ได้หยุดการสืบสวนไปแล้ว221 โดยกล่าวโทษว่าการถูกทำร้ายร่างกายนั้นเป็นความผิดของตัวนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเอง222

ผู้ที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลต้องเผชิญกับคำข่มขู่ในโลกออนไลน์อย่างมากมาย ซึ่งส่งผลให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเอง (ดู ข4) พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ได้รับโทรศัพท์สายหนึ่งซึ่งขู่ทำร้ายเขาเมื่อเดือนมิถุนายน 2562223 ในเดือนตุลาคม 2562 ผู้ใช้แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ซึ่งกำลังแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ต้องถูกข่มขู่ในโลกออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ทวิตเตอร์นิรนามรายหนึ่งซึ่งมีโพสต์ที่ได้รับการแชร์ต่อ 10,400 ครั้ง ถูกจู่โจมในโพสต์เฟสบุ๊คอันหนึ่งที่กล่าวหาว่าโพสต์ต้นทางเป็น “ข่าวปลอม” และมาจาก “การสมคบคิด” และยังกล่าวอ้างอีกว่ามีรูปของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายนี้224 หลังจากถูกข่มขู่ บัญชีและโพสต์ทวิตเตอร์ดังกล่าวก็ถูกลบออกไป นักกิจกรรมเคลื่อนไหวที่แสดงออกการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยแฮชแท็กเดียวกันก็ได้ลบบัญชีเฟสบุ๊คทิ้งไปเมื่อได้รับข้อความแจ้งให้ลบบัญชีโซเชียลมีเดียของเขาให้หมดเพื่อความปลอดภัย ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาโดยคนที่กล่าวอ้างว่ามาจากสำนักพระราชวัง225 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 สิรินทร์ มุ่งเจริญ นักกิจกรรมนักศึกษา ได้รับคำขู่เอาชีวิต ถูกรังแก คุกคามทางเพศ และโจมตีในรูปแบบอื่นๆในโลกออนไลน์226 หลังจากวิดีโอที่เธอได้ชุมนุมประท้วงด้วยธงสีดำได้รับการแชร์อย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้ระงับบัญชีโซเชียลมีเดียของเธอชั่วคราว227

สมาชิกกลุ่มเฟสบุ๊ครอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสซึ่งแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกข่มขู่และคุกคามทั้งในและนอกโลกออนไลน์ (ดู ข2 และ ค3) ผู้ใช้บางรายถูกล่าแม่มดบนโซเชียลมีเดีย ถูกข่มขู่โดยตำรวจหรือขู่เรื่องการไล่ออกจากงาน228 ในเดือนมิถุนายน 2563 ทนายด้านสิทธิมนุษยชนรายหนึ่งได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้สืบสวนเกี่ยวกับการคุกคามและการข่มขู่

ระหว่างช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงการล็อคดาวน์ที่ตามมาภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เยี่ยมและซักถามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสตรีหลังจากพวกเธอได้แชร์วิดีโอเกี่ยวกับงานของพวกเธอในเฟสบุ๊ค เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 คะติมะ หลีจ๊ะ นักกิจกรรมชาติพันธ์ลีซู ถูกเข้าเยี่ยมและซักถามโดยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบหลังจากเธอได้มีส่วนร่วมในวิดีโอที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงทางกายภาพในสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องที่ดินซึ่งได้รับการเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค229 ในเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกัน สมหมาย หาญเตชะ นักกิจกรรมจากกลุ่มคนรักบ้านแหงซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดลำปาง ได้มีส่วนร่วมในวิดีโอซึ่งเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 และได้รับการเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสามคนได้เตือนเธอให้งดเว้นจากการพูดคุยหรือมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวใดๆเกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน230

เป็นที่รู้กันโดยทั่วว่าภาครัฐได้ดำเนินการข่มขู่และควบคุมตัวผู้ใช้เพื่อกดดันพวกเขาให้ลบเนื้อหาหรือเซ็นเซอร์ตนเอง (ดู ข2 และ ข4) ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ใช้รายหนึ่งได้รายงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่าเธอถูกจับกุมและซักถามเกี่ยวกับโพสต์ที่นักกิจกรรมนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆได้แชร์ ระหว่างการซักถาม มีรายงานว่าตำรวจถามความคิดเห็นต่างๆของเธอ และถามไถ่ถึงชีวิตส่วนตัว ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมชั้นของเธอ และยังได้ถ่ายภาพเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ของโทรศัพท์มือถือ หมายเลขโทรศัพท์ รายละเอียดการลงชื่อเข้าใช้บัญชีทวิตเตอร์ และเนื้อหาต่างๆในอีเมลและบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของเธอ อีกทั้ง เธอยังถูกบังคับให้ลบโพสต์เก่าๆ และลงชื่อในข้อตกลงที่ระบุว่าตำรวจสามารถใช้ข้อมูลของเธอ ว่าเธอมิได้ถูกตำรวจขู่เข็ญ และว่าเธอจะไม่โพสต์เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก231 ไม่มีการแสดงหมายจับต่อหน้าเธอ และเธอมิได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเจ้าหน้าที่ที่ซักถามเธอแต่อย่างใด

ค8: เว็บไซต์ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้รายบุคคล ต้องเผชิญกับการถูกแฮกในวงกว้างหรือการจู่โจมทาง ไซเบอร์ในรูปแบบอื่นๆ หรือไม่ (0–3 คะแนน) (2/3)

ในขณะที่มีการจู่โจมทางไซเบอร์จำนวนมากระหว่างช่วงที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม กลุ่มภาคประชาสังคม นักข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นประจำจากการโจมตีทางเทคนิคโดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนเพื่อตอบโต้การทำงานของพวกเขา

บริษัทแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) อันเป็นบริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในระดับโลก232 ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามยืดเยื้อขั้นสูง (Advanced persistent threat: APT) จำนวนมากที่ได้โจมตีเว็บไซต์ของไทยระหว่างปี 2561 ถึง 2563 รวมไปถึงภัยคุกคาทที่มีชื่อเรียกว่า ฟันนี่ดรีม(FunnyDream), ไซเคลอเดก (Cycldek), และซีโบรซี่ (Zebrocy).233 ฟันนี่ดรีม ตัวแสดงที่เป็น APT ของจีน เน้นพุ่งเป้าไปที่องค์กรระดับสูงของรัฐบาล และพรรคการเมือง โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่กลางปี 2561 ในขณะที่ไซเคลอเดก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งใน APT ของจีน ได้ดำเนินการขโมยข้อมูลจากภาคส่วนการป้องกันประเทศและพลังงาน โดยร้อยละ 3 ของเป้าหมายอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีซีโบรซี่ที่เป็น APT จากรัสเซียซึ่งพุ่งเป้ามาที่องค์กรไทยเช่นเดียวกัน234 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับทั่วประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware)235

องค์กรภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปต้องเผชิญกับการโจมตีเชิงเทคนิคด้วยเช่นกัน บุคคล 2 คนได้ขโมยบัญชีส่วนตัวของผู้อื่นในเฟสบุ๊คและไลน์เพื่อนำไปหลอกลวงโดยเชิญชวนให้เพื่อนของผู้ใช้ส่งเงินมาให้ พวกเขาถูกจับโดยบก.ปอท. เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 จากแผนการดังกล่าว ซึ่งทำให้พวกเขาได้เงินไปถึง 4 ล้านบาท (130,000 ดอลลาร์สหรัฐ)236 เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ผู้จู่โจมทางออนไลน์ได้เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของสายการบินไลอ้อนแอร์ ประจำประเทศไทย (Thai Lion Air) และมาลินโดแอร์ (Malindo Air) และได้ปล่อยข้อมูลของผู้โดยสารกว่า 35 ล้านราย237 ซึ่งรวมไปถึงชื่อ-สกุล, ที่อยู่, อีเมล, วันเกิด, เบอร์โทรศัพท์, หมายเลขหนังสือเดินทาง และวันหมดอายุ238

ประชาไท สำนักข่าวออนไลน์อิสระชั้นนำ239 ได้เคยตกเป็นเป้าของการโจมตีโดยปฏิเสธการให้บริการแบบกระจาย (Distributed denial-of-service: DDoS) แม้บันทึกใดระบุว่าเกิดการโจมตีครั้งใหญ่ขึ้นในช่วงระยะที่รายงานฉบับนี้ครอบคลุม เว็บไซต์ขององค์กรสิทธิที่เห็นต่างจากภาครัฐ เช่น ไอลอว์ (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน240 ก็มิได้รายงานว่าถูกโจมตีระหว่างช่วงนี้เช่นกัน241

แฮกเกอร์ได้พุ่งเป้าไปที่องค์กรและเว็บไซต์ของภาครัฐในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเพื่อประท้วงการกระทำของรัฐบาล เช่น การผ่านพ.ร.บ.คอมฯ โดยสนช. เมื่อเดือนธันวาคม 2559 เป็นต้น เว็บไซต์ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่งถูกทำลายหน้าเว็บโดยแฮกเกอร์ โดยแสดงสัญลักษณ์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านแผนของรัฐในการควบคุมอินเทอร์เน็ตมากขึ้นผ่านการใช้ระบบซิงเกิลเกตเวย์242 ในขณะเดียวกันเว็บอื่นๆ ก็ถูกทำให้ล่มด้วยการโจมตีแบบ DDoS คนจำนวนมากที่ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ถูกจับกุมและซักถามในภายหลัง ณ ฐานทัพของทหาร243 หนึ่งในผู้ต้องสงสัยมีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น244 ในอีกกรณีหนึ่ง บก.ปอท. ได้จับกุมธีรณัฐ มหัทธโนบล ซึ่งมีอายุ 19 ปีในเดือนตุลาคม 2562 ในข้อหากระทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเว็บไซต์รัฐบาลที่เปิดให้ลงทะเบียนรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในโครงการ “ชิม ช็อป ใช้”245 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 กล้องวงจรปิดภายในเรือนจำอันแออัดในจังหวัดชุมพรถูกแฮก และมีการโพสต์วิดีโอถ่ายทอดสดลงในยูทูปเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่อันเลวร้ายของผู้ที่ถูกควบคุมตัว246

ในเดือนมกราคม 2562 องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนลรายงานว่าภาครัฐมีขีดความสามารถในการใช้การโจมตีทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้รหัสข้อมูลระดับต่ำ หรือการโจมตีแบบเครื่องจักรกลาง (Machine-in-the-middle) เพื่อขัดขวางการเข้ารหัสข้อมูล (ดู ค4).

พ.ร.บ. ไซเบอร์ฯ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับการเผยแพร่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562247 กฎหมายฉบับนี้กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มกัน แก้ไขปัญหา และบรรเทาภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์248 อย่างไรก็ตาม ตัวบทของกฎหมายไม่สามารถช่วยคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ได้ หน่วยงานประเภท CII ตามที่มีการจำกัดความไว้ในกฎหมาย (ดู ก3) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อบังคับจำนวนมากภายใต้มาตรา 54, 55, 57, 73, และ 74 ซึ่งเป็นความท้าทายในการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสำหรับบริษัทเอกชน249 ยกตัวอย่างเช่น CII จะต้องเฝ้าติดตามและรายงานภัยคุกคามซึ่งกำลังก่อตัวขึ้นทั้งหมดต่อรัฐบาล โดยรวมไปถึงการแชร์ข้อมูลอันเป็นความลับ ทั้งนี้ การประเมินหรือบ่งชี้ภัยคุกคามอาจเป็นไปได้ยากจนกว่าจะเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ขึ้นก่อน250 การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านี้อาจทำให้ต้องระวางโทษจำคุกและปรับเป็นเงินจำนวนมาก

On Thailand

See all data, scores & information on this country or territory.

See More
  • Global Freedom Score

    30 100 not free
  • Internet Freedom Score

    39 100 not free
  • Freedom in the World Status

    Partly Free
  • Networks Restricted

    No
  • Websites Blocked

    Yes
  • Pro-government Commentators

    Yes
  • Users Arrested

    Yes