Thailand
A Obstacles to Access | 16 25 |
B Limits on Content | 14 35 |
C Violations of User Rights | 9 40 |

คะแนนปีที่แล้ว และ สถานะ
36/100 ไม่มีเสรีภาพ
คะแนนเริ่มต้นที่ 0 (มีเสรีภาพน้อยที่สุด) จนถึง 100 (มีเสรีภาพมากที่สุด) อ่านเพิ่มเติมที่กระบวนการวิจัย และกิตติกรรมประกาศ
ภาพรวม
อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยถูกจำกัดอย่างรุนแรง มีการปราบปรามการแสดงออกทางออนไลน์โดยรัฐบาลที่นำโดยทหารในวงกว้าง ซึ่งดำเนินการเพื่อตอบโต้การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 และเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของรายงานนี้ การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายยุยงปลุกปั่นเพื่อดำเนินคดีผู้ที่แสดงออกในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องเผชิญกับโทษจำคุกอย่างหนัก การโจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐ การข่มขู่ และการก่อกวนที่มุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมออนไลน์ยังคงดำเนินต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเชิงปราบปรามในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นอีกขั้น แม้ว่าศาลจะพบว่ามาตรการบางอย่างขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ตาม
หลังจากห้าปีของการปกครองแบบเผด็จการทหาร ประเทศไทยได้เปลี่ยนไปสู่รัฐบาลกึ่งเลือกตั้งที่ครอบงำโดยทหารในปี 2562 ความเสื่อมโทรมของระบอบประชาธิปไตยประกอบกับความคับข้องใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปกครองประเทศไทยได้ก่อให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลยังคงใช้กลยุทธ์เผด็จการเพื่อตอบสนองกับสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการจับกุมโดยพลการ การข่มขู่ ฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการคุกคามนักกิจกรรม เสรีภาพสื่อถูกจำกัด กระบวนการอันชอบธรรมไม่มีความแน่นอน และไม่มีการรับผิดชอบอาชญากรรมเกิดต่อนักเคลื่อนไหว
พัฒนาการที่สำคัญตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2565
มีการประกาศควบรวมกิจการผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ TRUE และ โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน (DTAC) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 การรวมของตลาดอาจทำให้เกิดข้อกังวลด้านราคา อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลด้านการสื่อสารระบุว่าอาจไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการควบรวมกิจการ (ดูข้อ ก2 และ ก4) ทางการพยายามจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ระดมการสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ดู ข1 ข2 และ ข8) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าคำปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นความพยายามในการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแสดงออกทางออนไลน์ (ดู ข4 และ ค1) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาจากข้อความเรียกร้องให้มีการปฏิรูปรัฐบาล โดยทางการได้ตัดสินจำคุกนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งหกปีจากการโพสต์บนเฟซบุ๊กในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการลงโทษจำคุกที่ยาวนานหลายทศวรรษในช่วงระยะเวลารายงานนี้ ซึ่งแตกต่างกับสถานการณ์ในระยะเวลาของรายงานก่อนหน้า (ดู ค3) ตามรายงานที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2565 รัฐบาลไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้สปายแวร์กับผู้สนับสนุนประชาธิปไตย นักวิจัย และนักการเมืองในช่วงเวลาของรายงานนี้ (ดู ค5) ไม่มีรายงานกรณีการใช้ความรุนแรงโดยตรงในการตอบโต้กิจกรรมออนไลน์ของประชาชน แม้ว่าการข่มขู่นอกเหนือกฎหมาย การคุกคามทางออนไลน์ และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยผู้ไม่หวังดียังคงดำเนินต่อไป (ดู ค7)
ก. อุปสรรคในการเข้าถึง
ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานได้จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือความเร็วและคุณภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือไม่ – 5
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ใช้ออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น จากรายงาน Digital 2022 ของ DataReportal อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยอยู่ที่ 77.8 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 54.5 ล้านคน ณ เดือนมกราคม 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.2 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม 2564 1
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถืออยู่ในระดับสูง ภายในเดือนมกราคม 2565 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 96.2 เปอร์เซ็นต์ใช้โทรศัพท์มือถือในการเชื่อมต่อ เทียบกับ 97.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 25642 ในทางกลับกัน ผู้ใช้ 50.6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านแล็ปท็อปและคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป ซึ่งลดลงจาก 64 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน 3
อ้างอิงจาก Speedtest Global Index ของ Ookla ความเร็วในการดาวน์โหลดบรอดแบนด์มือถือและโทรศัพท์บ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 33.7 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) และ 188.8 Mbps ตามลำดับ ณ เดือนพฤษภาคม 2565 4
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอกชนสามรายและบริษัทโทรคมนาคมของรัฐสองแห่งยื่นประมูลสเปกตรัมที่จำเป็นสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริการมือถือรุ่นที่ 5 (5G) เป็นมูลค่ารวม 100,000 ล้านบาท (3.3 พันล้านดอลลาร์)5 แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ในฐานะผู้ให้บริการมือถือรายแรกที่เปิดตัวเครือข่าย 5G6 ได้เซ็นสัญญากับผู้ใช้บริการ 2.2 ล้านรายภายในสิ้นปี 25647 และเปิดทำการสถานีฐาน 5G มากกว่า 18,700 สถานีใน 77 จังหวัดของประเทศไทย8
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีราคาแพงถึงขนาดทำให้คนไม่สามารถใช้ได้ หรือประชากรบางกลุ่มเข้าไม่ถึงด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ สังคม หรือเหตุผลอื่นๆ หรือไม่ – 2
ความแตกต่างในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงมีอยู่ โดยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ใช้จ่าย 200 ถึง 599 บาท ต่อเดือนเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ณ ปี 2561 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่มี ในขณะที่ 21 เปอร์เซ็นต์จ่ายน้อยกว่า 200 บาทต่อเดือน9 Affordability Drivers Index (เครื่องมือกำหนดนโยบายที่ประเมินว่านโยบาย กฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมด้านอุปทานโดยรวมของประเทศทำงานได้ดีเพียงใดเพื่อลดต้นทุนอุตสาหกรรม และสร้างบรอดแบนด์ในราคาที่จับต้องได้ในที่สุด) ในปี 2564 ประมาณการว่าการบริการบรอดแบนด์มือถือ 1 กิกะไบต์ (GB) มีค่าใช้จ่าย 1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ (GNI) ต่อหัวของประเทศไทย10 ในปี 2561 เกือบ 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโปรแกรมฟรี11
ผู้สังเกตการณ์บางคนคาดว่าการเปิดตัวบริการ 5G จะเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเนื่องจากต้นทุนที่ลดลง12 อย่างไรก็ตาม ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G มีราคาแพงกว่าที่คาดการณ์ไว้13 และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้14 หลังจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ TRUE และ DTAC ประกาศแผนการควบรวมกิจการในเดือนพฤศจิกายน 256415 เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงความกังวลว่าข้อตกลงดังกล่าวจะลดการแข่งขันในตลาด ซึ่งอาจนำไปสู่การขึ้นราคา (ดู ก4)16
โครงการต่างๆ ของรัฐบาลพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างเขตเมืองและชนบท17 โครงการคืนความสุขให้คนไทยริเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านจุดเชื่อมต่อไร้สายและโทรศัพท์บ้านในพื้นที่ชนบทโดยมีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ของรัฐได้ติดตั้ง Wi-Fi hotspot ใน 24,700 แห่ง ณ ปี 2560 และขยายเป้าหมายของโครงการนี้ไปยังอีก 15,732 หมู่บ้านในพื้นที่ชนบท และ 3,920 หมู่บ้านในพื้นที่ชายแดน18 โครงการนี้ยังรวมถึงการสรรหาบุคลากร และการฝึกคนให้ทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)19
ด้วยการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ถูกล็อกดาวน์ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 รัฐบาลจึงพยายามหลายครั้งเพื่อสนับสนุนการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ในช่วงต้นปี 2563 กสทช. ได้เปลี่ยนเส้นทางเงิน 3 พันล้านบาท (99.2 ล้านดอลลาร์) จากกองทุนวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือการใช้อินเทอร์เน็ต 10 GB แบบครั้งเดียวแก่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินและแบบรายเดือนทั้งหมด20 นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม 2564 กสทช. ได้สั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์บ้านทุกรายเพิ่มความเร็วและศักยภาพเพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน21 หลังจากนั้นไม่นาน แพ็คเกจมือถือราคาประหยัดก็เปิดตัว ทำให้สามารถใช้ข้อมูลไม่จำกัดและแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น22 อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านี้ไม่ครอบคลุมผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บ้าน23
ผู้ให้บริการมือถือ 3 ราย ได้แก่ AIS TRUE และ DTAC ต่างเสนอการให้บริการเข้าถึงเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดย TRUE และ DTAC เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Free Basics โดยเฟซบุ๊กในประเทศไทย โครงการนี้ให้สิทธิ์เข้าถึงเนื้อหาบันเทิงและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึง เฟซบุ๊ก Messenger และวิกิพีเดียบนโทรศัพท์มือถือฟรี24
รัฐบาลได้เข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีทางเทคนิคหรือกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดความสามารถในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือไม่ – 5
\ไม่มีรายงานว่ารัฐปิดกั้นหรือควบคุมการเชื่อมต่อโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความสามารถในระดับหนึ่งในการควบคุมทางเทคนิคผ่านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต
ในเดือนมกราคม 2563 โทรคมนาคมแห่งชาติถูกก่อตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ซึ่งเป็นของรัฐ ก่อนหน้านี้ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเกตเวย์ระหว่างประเทศและการเชื่อมต่อกับเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำและดาวเทียม25 การเข้าถึงเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศจำกัดให้เฉพาะ กสท โทรคมนาคม จนกระทั่งได้มีการเปิดให้แก่คู่แข่งในปี 254926 แม้ว่าการควบรวมกิจการของ กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้บริษัทมหาชนสามารถแข่งขันกับบริษัทโทรคมนาคมเอกชนได้27 แต่ก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัฐบาล เพื่อรวมการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่ปี 2549 กองทัพได้ให้ความสำคัญกับ "อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ" ซึ่งจะทำให้ทางการไทยสามารถขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการไหลของข้อมูลได้ตลอดเวลา28 แม้จะไม่ชัดเจนว่า "ซิงเกิลเกตเวย์" ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันถูกนำไปใช้ในปีต่อๆ ไปหรือไม่29 ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอีเอส) กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่าเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณา โดยอ้างถึงความจำเป็นในการยับยั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ30
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจเหนือผู้ให้บริการภาครัฐและเอกชน (ดู ค6) แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ได้กล่าวถึงการจำกัดการเชื่อมต่ออย่างชัดเจน แต่ก็เปิดทางเจ้าหน้าที่สามารถบังคับให้ผู้ให้บริการปฏิบัติตามคำสั่งของตนได้ง่ายขึ้น หากพิจารณาว่าสถานการณ์หนึ่งอาจเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ 31
กฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดเรื่องความโปร่งใสในการตัดสินใจของรัฐบาล และขาดระบบความรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพหากเกิดการจำกัดการเชื่อมต่อขึ้นจริง32
มีอุปสรรคทางกฎหมาย มาตรการกำกับดูแล หรือเศรษฐกิจที่ลดความหลากหลายของผู้ให้บริการหรือไม่ – 4
แม้ว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต 20 รายจะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการในประเทศไทย แต่ผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด 3 รายนั้นควบคุมตลาดเกือบ 85 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ จากรายงานของ กสทช. ที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2564 ทรูออนไลน์เป็นผู้นำในภาคส่วนนี้ด้วยสัดส่วน 36.1เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยจัสมินที่ 29.9 เปอร์เซ็นต์ และ TOT ของรัฐที่ 18.8 เปอร์เซ็นต์ เอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออันดับต้นของประเทศไทย ซึ่งเข้าสู่ตลาดบรอดแบนด์โทรศัพท์บ้านในปี 2558 คิดเป็น 11.5 เปอร์เซ็นต์33
การซื้อและจำหน่ายใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G จำนวน 48 ใบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อาจทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเปลี่ยนแปลงไป (ดูข้อ ก1) เนื่องจาก AIS ถือใบอนุญาต 5G จำนวน 23 ใบและ TRUE ถือ 17 ใบ ซึ่งนับเป็นส่วนใหญ่ของใบอนุญาตทั้งหมด จึงส่วนแบ่งการตลาดของทั้งสองค่ายนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต34
ในภาคส่วนโทรศัพท์มือถือ AIS ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 44 เปอร์เซ็นต์ ณ ไตรมาสแรกของปี 2564 TRUE ถือหุ้น 32.3 เปอร์เซ็นต์ และรองลงมาเป็น DTAC ที่บริหารโดยนอร์เวย์คิดเป็นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์35 AIS และ DTAC ใช้งานคลื่นความถี่บางส่วนภายใต้สัมปทานจาก TOT และ CAT Telecom ของรัฐ ซึ่งเป็นระบบการจัดสรรที่ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันในตลาดเสรีโดยสิ้นเชิง ในเดือนพฤศจิกายน 2564 TRUE และ DTAC ประกาศแผนการควบรวมกิจการ การประกาศดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าการผูกขาดบริการมือถืออาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภค36 ในเดือนสิงหาคม 2565 มีรายงานว่าคณะกรรมการ กสทช. เห็นไม่ตรงกันในประเด็นว่าตนมีอำนาจอนุมัติหรือสั่งห้ามการควบรวมกิจการหรือไม่37
รายงานปี 2560 โดย Privacy International องค์กรในสหราชอาณาจักรพบว่าทางการมี “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบริษัทโทรคมนาคมเอกชนและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลานานผ่านการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสูงจากภาคส่วนหนึ่งไปอีกภาคส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน”38
องค์กรกำกับดูแลระดับชาติที่ควบคุมผู้ให้บริการและเทคโนโลยีดิจิทัลล้มเหลวในการดำเนินงานอย่างเสรี ยุติธรรม และเป็นอิสระใช่หรือไม่ – 0
ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารหรือที่เรียกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการปฏิรูปหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งลดความเป็นอิสระ ความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือของหน่วยงานดังกล่าว
กสทช. ซึ่งเดิมเป็นผู้กำกับดูแลวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม สูญเสียอำนาจ รายได้ และความเป็นอิสระ หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลผ่านร่างพระราชบัญญัติ กสทช. ในปี 2560 ส่งผลให้กสทช. กลายเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของขนาดเดิม อีกทั้งยังได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการที่นำโดยนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานใหม่อื่น ๆ ที่มีหน้าที่ทับซ้อนกัน
คณะกรรมการ กสทช. ได้รับการคัดเลือกตามกระบวนการที่รัฐบาลควบคุมอย่างเข้มข้น หลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาในเดือนธันวาคม 2564 กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้งในเดือนเมษายน 256539 ความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลที่จะคงกรรมการเดิมไว้40 พระราชบัญญัติ กสทช. ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังได้ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าผู้สมัครต้องมีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง41 กรรมการ กสทช. ได้รับค่าตอบแทนที่สูงและมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาคโทรคมนาคมมูลค่าหลายพันล้าน42
กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของ กสทช. อย่างมาก ตัวอย่างเช่น กสทช. สั่งระงับการออกอากาศสื่อวอยซ์ทีวีชั่วคราวในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และกำหนดให้ปฏิบัติตามข้อจำกัดในการรายงานข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับรัฐบาล43 ต่อมา ศาลปกครองตัดสินว่าการระงับครั้งนั้นเป็นโมฆะ และเรียกร้องให้ กสทช. วางตัวเป็นกลางทางการเมืองและเคารพในการแสดงออกอย่างเสรี44
ในปี 2559 สนช. จัดตั้งกระทรวงดีอีเอสเพื่อแทนที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินนโยบายและบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ดู ค2)45
คณะกรรมการเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (สดช.) เป็นผู้ให้คำสั่งแก่ กระทรวงดีอีเอส และมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 256046 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินแปดคน47 ด้วยความที่คณะกรรมการนี้ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ควบคุมหน่วยงานของรัฐ แม้ว่าจะมีอำนาจเหนือกระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ก็ตาม หน่วยงานอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อนโยบาย ได้แก่ กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ในปี 2563 และ 2564 มีการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ร.บ.นี้นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คณะกรรมการกำกับดูแลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ48 คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติมีหน้าที่พัฒนานโยบาย แนวปฏิบัติ และหลักปฏิบัติ ในขณะที่คณะกรรมการกำกับดูแลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะดูแลนโยบายเหล่านี้ ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ49 มากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกของคณะกรรมการเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจจากองค์กรเดียวกันดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเหล่านี้ทั้งหมด นับว่าเป็นกัดกร่อนประสิทธิภาพการตรวจสอบและถ่วงดุล และลดโอกาสในการทวงถามความรับผิดชอบและดำเนินงานอย่างเป็นอิสระ50 ในเดือนมกราคม 2563 ได้มีการคัดเลือกสมาชิกผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์51 ในเดือนมกราคม 2565 มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสมาชิกเป็นส่วนใหญ่52
การจำกัดเนื้อหา
ภาครัฐระงับหรือคัดกรอง หรือบังคับให้ผู้ให้บริการระงับหรือคัดกรองเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตหรือไม่ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ได้รับการปกป้องภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล – 3
การปิดกั้นเนื้อหาที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากกระบวนการนี้ขาดความโปร่งใส จึงไม่ทราบแน่ชัดว่าเนื้อหาที่ถูกปิดกั้นทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไหร่ นอกจากนี้ หลายเว็บไซต์ยังถูกปิดกั้นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน เนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา หรือการให้บริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ที่ไม่ได้รับอนุญาต53
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กระทรวงดีอีเอสได้รับอนุญาตจากศาลให้ปิดกั้น URL 71 รายการที่เกี่ยวข้องกับการพนันที่ผิดกฎหมายและ 9 URL ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ54 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 กระทรวงดีอีเอสได้ขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และ ณ เดือนมิถุนายน 2565 URL ทั้งหมด 2,630 รายการถูกปิดกั้น โดย 1,231 URL ถูกปิดเพราะข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 876 URL เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ และ 312 URL เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถือว่าผิดจรรยาบรรณ55 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงดีอีเอสปิดกั้น no112.org ซึ่งจัดทำคำร้องออนไลน์เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเนื่องจากข้อกล่าวหาว่าละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ. การพนัน56 ในเดือนนั้น เว็บไซต์นี้สามารถเข้าถึงได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มีบางช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2565 ที่ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้57
ในช่วงระยะเวลาของรายงานก่อนหน้า กระทรวงดีอีเอสได้ปิดกั้น URL 1,457 รายการที่เกี่ยวข้องกับการพนันและเว็บไซต์อื่นๆ อีก 190 เว็บไซต์ รวมทั้ง Pornhub เหตุเพราะแชร์เนื้อหาลามกอนาจาร58 ในเดือนตุลาคม 2563 พบคำสั่งลับของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการมือถือปิดกั้นที่อยู่อินเทอร์เน็ตโพรโตคอล (IP) สี่รายการที่เกี่ยวข้องกับ Telegram ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความที่ผู้ประท้วงใช้ในการสื่อสารและนัดหมายชุมนุม59 ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลสั่งปิดกั้น Change.org ในประเทศไทย หลังจากมีคำร้องเพื่อเรียกร้องให้กษัตริย์ได้รับการประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาในเยอรมนีถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนทวิตเตอร์60
รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยจำนวน URL ที่ถูกปิดกั้นโดยคำสั่งศาลต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามกระทรวงดีอีเอสรายงานว่าตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ได้รับคำสั่งศาลให้ปิดกั้น URL ประมาณ 8,440 รายการที่มีเนื้อหาที่ได้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่ง URL ส่วนใหญ่อยู่บนเฟซบุ๊ก ยูทูป และทวิตเตอร์ ณ สิ้นปี 2563 มีเพียง 5,025 รายการเท่านั้นที่ถูกปิดกั้น61
เว็บไซต์ที่ให้บริการเครื่องมือสำหรับปิดบังตัวตนออนไลน์และการหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ รวมถึง VPN ถูกปิดกั้นโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอย่างน้อยหนึ่งราย62 ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ VPN Hotspot Shield63 เคยถูกปิดกั้นโดย TRUE ในขณะที่ Ultrasurf ซึ่งเป็น VPN อีกเจ้าหนึ่งถูกปิดกั้นโดย DTAC AIS และ 3BB ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ตั้งแต่ปี 2560 ศาลได้ออกคำสั่งให้ปิดกั้นหรือปิดการเข้าถึง URLs เนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ มี URL มากกว่า 1,500 รายการถูกปิดกั้น ณ เดือนตุลาคม 256464
รัฐหรือตัวการที่ไม่ใช่รัฐใช้วิธีการทางกฎหมาย ทางการปกครอง หรือทางอื่นๆ ในการบังคับให้ผู้เผยแพร่เนื้อหา ผู้ดูแลเนื้อหา หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลลบเนื้อหาหรือไม่ โดยเฉพาะเนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล – 1
การเปลี่ยนแปลงของคะแนน: คะแนนดีขึ้นจาก 0 เป็น 1 เนื่องจากในขณะที่กระทรวงดีอีเอส และผู้ให้บริการยังคงมีส่วนร่วมในการปิดกั้นขนาดใหญ่ รายงานของการบังคับลบเนื้อหาระดับรายบุคคลที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต้องเผชิญมีจำนวนลดน้อยลงในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ การลบ ปิดกั้น และคัดกรองเนื้อหายังคงดำเนินต่อไปภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ ผู้ใช้มักถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ให้ลบเนื้อหา ในขณะที่ผู้ให้บริการเนื้อหาหรือองค์กรตัวกลางมักปฏิบัติตามคำขอให้ลบเพื่อหลีกเลี่ยงโทษทางอาญา (ดู ข3)
รัฐบาลกดดันและข่มขู่ผู้ใช้ ผู้เผยแพร่ และผู้โฮสต์เนื้อหาให้ลบเนื้อหาออก ในจำนวน URL ที่ถูกจำกัดการเข้าถึงโดยกระทรวงดีอีเอสในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหาที่ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในเดือนมิถุนายน 2565 กระทรวงดีอีเอสได้ประกาศขอบคุณยูทูปและติ๊กต็อกที่ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทย โดยข้อมูลชี้ว่าทั้งสองแพลตฟอร์มปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์65 ในเดือนพฤษภาคม 2565 กระทรวงดีอีเอสขอคำสั่งศาลให้ลบเพจยูทูป ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก จำนวน 42 เพจ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการแชร์โฆษณาจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ลาซาด้า66 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ในระยะเวลาของรายงานก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้สั่งให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 12 รายลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 มิฉะนั้นจะถูกลงโทษตามกฎหมาย67
ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564 เฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึง 77 โพสต์ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และอีก 1,754 โพสต์ถูกรายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย68 อ้างอิงจากรายงานความโปร่งใสของกูเกิลในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลได้ส่งคำขอ 162 รายการไปยังกูเกิลเพื่อให้ลบ 436 รายการในบริการต่างๆ ของกูเกิล ซึ่งทางบริษัททำการลบไป 70 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาที่ถูกร้องเรียน69 คำขอประมาณร้อยละ 96 เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทวิตเตอร์ได้รับข้อเรียกร้องตามกฎหมาย 50 รายการให้ลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ 130 บัญชี ซึ่งคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์70
เนื้อหาที่ตกเป็นเป้าของการลบหรือปิดกั้นโดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ได้แก่ ข้อความหรือคำพูดที่เกี่ยวกับการเมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสังคม ในเดือนมกราคม 2564 รัฐบาลสั่งให้ยูทูปจำกัดการเข้าถึงมิวสิกวิดีโอที่อัปโหลดโดยกลุ่ม Rap against Dictatorship ซึ่งเป็นศิลปินแร็ปชาวไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมือง วิดีโอดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และแสดงภาพการประท้วงที่นำโดยเยาวชนที่ต่อต้านรัฐบาลในปี 256371 ในเดือนสิงหาคม 2563 รัฐบาลได้สั่งให้เฟซบุ๊กปิดกั้นไม่ใช่ผู้ใช้ชาวไทยเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการสนทนาเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ ซึ่งสร้างโดยผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ชื่อดัง และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก72 เฟซบุ๊กปฏิบัติตามคำขอ แต่ประกาศว่าจะดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคัดค้านคำสั่งนี้73
ในเดือนมิถุนายน 2564 ศาลสั่งให้เฟซบุ๊กและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นหรือลบบัญชีเฟซบุ๊ก 8 บัญชี ด้วยข้อกล่าวหาว่าเผยแพร่ “ข่าวปลอม” บัญชีเหล่านี้เป็นของนักกิจกรรม นักข่าว และองค์กรที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย แม้กระทรวงดีอีเอสขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายใน 24 ชั่วโมง แต่ผู้ใช้ยังสามารถเข้าถึงบัญชีเฟซบุ๊กนั้นได้อยู่สี่วันหลังจากมีคำสั่ง74 และยังไม่ถูกปิด ณ เดือนมิถุนายน 2565
ภายใต้มาตรา 15 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ บริษัทสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ อาจถูกลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหรือศาลที่ขอให้ลบเนื้อหาหมิ่นประมาท เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก หรือละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์75 หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอาจมีโทษปรับ 200,000 บาท และค่าปรับรายวันเพิ่มเติมอีก 5,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง
ในเดือนกันยายน 2563 กระทรวงดีอีเอสได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทางกฎหมายต่อทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเนื่องจากทั้งสองบริษัทไม่ปฏิบัติตามคำขอให้ลบเนื้อหา76 กระทรวงดีอีเอสระบุในตอนแรกว่า กรณีเดียวที่จะถอนคำร้องเรียนคือบริษัทโซเชียลมีเดียทั้งสองต้องปฏิบัติตามคำสั่งอื่นๆ ในอนาคต แต่สุดท้ายกระทรวงฯ ก็ถอนคำร้องเรียนดังกล่าวไปในเดือนเมษายน 256477
การควบคุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตและเนื้อหาออนไลน์ขาดความโปร่งใส ไม่ได้สัดส่วนกับเป้าหมายที่ระบุไว้ หรือไม่มีกระบวนการอุทธรณ์ที่เป็นอิสระหรือไม่ – 1
การควบคุมเนื้อหาออนไลน์ขาดความโปร่งใสและไม่ได้สัดส่วน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการออกแจ้งเตือนให้แก้ไขเนื้อหาออนไลน์ได้ (ดู ค1)78
เหตุการณ์หนึ่งแสดงถึงพัฒนาการในทางที่ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญากลับคำตัดสินของศาลชั้นต้น ซึ่งสั่งระงับวิดีโอที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันถูกยุบไปแล้ว) วิจารณ์นโยบายเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของรัฐบาลในแพลตฟอร์ม 3 แห่ง ด้วยเหตุที่ว่าวิดีโอดังกล่าวละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ79 ในเดือนตุลาคม 2563 ศาลอาญาได้ยกเลิกคำสั่งขอให้ปิดวอยซ์ทีวีโดยกระทรวงดีอีเอส ซึ่งในช่วงนั้น ช่องวอยซ์มีการแพร่ภาพการประท้วงของนักศึกษาบ่อยครั้ง ศาลยังปฏิเสธคำขอของรัฐบาลที่ให้ปิดเว็บไซต์ใหม่ของ The Standard The Reporters ประชาไท และเพจเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาล รวมไปถึงจำกัดการเคลื่อนไหวออนไลน์ของกลุ่ม Free Youth80
ในเดือนพฤษภาคม 2560 รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดโทษแก่ผู้ให้บริการหรือผู้ให้บริการตัวกลาง (Intermediary) ที่อนุญาตให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน81 กฎหมายฉบับแก้ไขให้อำนาจแก่กระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานอื่น ๆ ในการขอระงับและขยายประเภทของเนื้อหาที่อาจถูกระงับได้ 82 อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาของรายงานนี้ ยังไม่มีการประกาศรายชื่อสมาชิกของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลที่แต่งตั้งโดยกระทรวงที่มีหน้าที่ตรวจสอบคำขอระงับเนื้อหา83 นอกจากนี้ กฎหมายฉบับแก้ไขยังให้ความคุ้มครองผู้ให้บริการตัวกลางในระบบแจ้งและลบออก อย่างไรก็ดี เนื้อหาบางส่วนของกฎหมายฉบับแก้ไขกำหนดบทลงโทษให้กับคนที่ลบเนื้อหาที่ถูกผิดกฎหมายบนอุปกรณ์ส่วนตัว แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากระทรวงฯ จะบังคับใช้กฎนี้อย่างไร84
ประกาศกระทรวงฉบับหนึ่งในปี 2560 ระบุว่าให้ผู้ให้บริการใช้วิธีทางเทคนิคเพื่อระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ตามคำสั่งของศาล ซึ่งถือว่าเข้มงวดน้อยกว่าฉบับร่างที่กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเซ็นเซอร์เนื้อหาโดยใช้ “มาตราการใดก็ตามที่จำเป็น”85
ประกาศกระทรวงดีอีเอสอีกฉบับเดือนกรกฎาคม 2560 ได้กำหนดให้มีระบบร้องเรียนเพื่อให้ผู้ใช้สามารถรายงานเนื้อหาที่ถูกผิดกฎหมาย และกระตุ้นให้ผู้ให้บริการตัวกลางดำเนินการตามข้อร้องเรียนทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด86 หลังจากได้รับแจ้ง ผู้ให้บริการตัวกลางจะต้องลบเนื้อหาที่ถูกร้องเรียนภายในเจ็ดวัน หากเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ หากเป็นเนื้อหาลามกอนาจาร ต้องลบภายในสามวัน และหากเป็นข้อมูลเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ต้องนำออกภายใน 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ระบบนี้มีมาตราการที่เปิดทางให้ผู้ให้บริการตัวกลางสามารถประเมินข้อร้องเรียนได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ภาระยังตกไปที่เจ้าของเนื้อหา กล่าวคือหากต้องการโต้แย้งการลบข้อมูล เจ้าของเนื้อหาต้องยื่นคำร้องต่อตำรวจก่อน แล้วจึงส่งคำร้องเรียนนั้นไปยังผู้ให้บริการตัวกลางซึ่งมีอำนาจสิ้นสุดในการตัดสิน บริษัทหรือเจ้าของเนื้อหาที่ไม่ปฏิบัติตาม อาจเจอโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลาห้าปี
กรอบเวลา 24 ชั่วโมงในการลบเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติตามประกาศของกระทรวงเป็นกฎที่ขัดกับคำตัดสินของศาลในปี 2556 ที่ระบุว่ากรอบเวลา 11 วันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการลบเนื้อหาประเภทนี้87 นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงยังกำหนดให้ผู้ให้บริการตัวกลางเป็นฝ่ายพิจารณาว่าเนื้อหานั้นฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดกรณีที่ผู้ให้บริการตัวกลางลบเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่ประเมินแล้วว่าอาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ในที่สุด กลายเป็นการให้ความสำคัญกับการปกป้องตนเองมากกว่าสิทธิที่จะรับรู้ของสาธารณชน การตอบรับส่วนจากผู้ให้บริการคนกลางเกี่ยวกับประกาศกระทรวงดีอีเอสฉบับนี้เป็นไปในทางที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนที่ชัดเจนและไม่ต้องแบกรับภาระในการดำเนินการเชิงรุกเพื่อตรวจสอบและลบเนื้อหา
นักข่าวออนไลน์ นักวิจารณ์ หรือผู้ใช้ทั่วไปต้องเซ็นเซอร์ตนเองหรือไม่- 1
สภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทยที่จำกัดเสรีภาพประชาชนนั้นส่งเสริมให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองในพื้นที่ออนไลน์ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือธุรกิจต่างๆ บนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มักถูกกำหนดบทลงโทษ (ดู ค3) อีกทั้งรัฐบาลยังทำการสอดส่องโซเชียลมีเดียเพื่อหวังควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง88 ใครที่เห็นต่างต้องเจอกับการล่วงละเมิดและข่มขู่ทางออนไลน์ ถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และชีวิตส่วนตัวถูกจับตามอง รวมถึงผู้กระทำส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ (ดู ค7)
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและนักข่าวชาวไทยส่วนใหญ่เซ็นเซอร์ตัวเองเวลาพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแพลตฟอร์มสาธารณะ เนื่องจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยมีความเข้มงวดสูง (ดู ค2) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีเจตนาซ่อนเร้นที่จะล้มล้างสถาบัน (ดู ค1) หลังศาลมีคำตัดสินดังกล่าว กสทช. ได้ส่งหนังสือเตือนสื่อไม่ให้รายงานข่าวการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และหากไม่ปฏิบัติ อาจเสี่ยงเจอโทษทางอาญา89 เหตุการณ์นี้ทำให้สื่อและผู้ใช้งานทั่วไปเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 หลายแฮชแท็กที่ตั้งคำถามถึงรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นกระแสโด่งดังทวิตเตอร์90 รวมถึงแฮชแท็กที่ชี้ว่ากษัตริย์ไม่เคยให้กำลังใจหรือการสนับสนุนด้านการเงินระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 แฮชแท็กมียอดทวีตเกิน 1.2 ล้านภายใน 24 ชั่วโมง แม้กระทรวงดีอีเอสจะไม่ได้กล่าวถึงแฮชแท็กนี้โดยตรง แต่ได้ออกคำเตือนไม่ให้ประชาชนประทำละเมิดกฎหมายบนอินเตอร์เน็ต91 ในเดือนพฤษภาคม 2564 เกิดแฮชแท็ก #ย้ายประเทศกันเถอะ และกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อเดียวกัน ซึ่งใช้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมโดยรัฐบาล และการจัดการการแพร่ระบาดโควิด 19 มีการพูดคุยกันผ่านแฮชแท็กนี้อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มในช่วงนั้น92 กระทรวงดีอีเอสสั่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของกลุ่มเฟซบุ๊กนี้และดำเนินคดีหากพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย93 หนึ่งในกลุ่มที่ใช้ชื่อ #ย้ายประเทศกันเถอะ ถูกเปลี่ยนเป็น “ข่าวทั่วไป” ในเดือนเดียวกัน94
แหล่งข้อมูลในโลกออนไลน์ถูกควบคุมหรือบงการโดยรัฐบาลหรือตัวการที่มีอำนาจอื่นๆ โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ – 1
\การเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ การบิดเบือนข้อมูล และการดัดแปลงเนื้อหาพบได้ทั่วไปในประเทศไทย เชื่อกันว่าหน่วยงานของรัฐและพรรคการเมืองบางพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำเหล่านี้ โดยกลุ่มคนเหล่านี้ใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อโจมตีฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประชากร นอกจากนี้ มีรายงานว่าความพยายามของรัฐในการปราบปรามข้อมูลเท็จนั้นเลือกจัดการกับเฉพาะบางกลุ่ม ทำให้แคมเปญที่สนับสนุนรัฐบาลลอยนวลต่อไป
บัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพไทยถูกลบโดยบริษัทโซเชียลมีเดียหลายแห่ง95 96 เอกสารภายในที่รั่วไหลออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ระบุว่ากองทัพจ้าง 17,000 คนให้สร้างและเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด และได้ฝึกอบรมบุคลากรเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงการถูกแบนโดยทวิตเตอร์ ทางกองทัพยืนยันว่าเอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารจริง แต่อ้างว่าการอบรมที่ว่ามีจุดประสงค์เพื่อสอนบุคลากรให้ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น97
เนื้อหาออนไลน์ที่ถูกดัดแปลง เป็นเท็จ หรือนำไปสู่ความเข้าใจผิดแพร่หลายเป็นอย่างมากในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อให้พรรคฝ่ายค้านและคนดังเสื่อมเสียชื่อเสียง เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก และสำนักข่าวจำนวนหนึ่งที่เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นเท็จและตัดต่อไฟล์เกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2562 สามารถสืบต้นตอกลับไปได้ที่ นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น98 ซึ่งประธานคนก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ คสช.
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พรรคก้าวไกล หรือพรรคฝ่ายค้านที่สืบทอดจากพรรคอนาคตใหม่หลังถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังแคมเปญมุ่งร้ายออนไลน์ซึ่งใช้งบจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยการเมืองของกองทัพไทย99 มีหลักฐานว่าบัญชีที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับแคมเปญนี้ก่อกวนฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรม รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความสงบสุขในภาคใต้ และทำให้บุคคลเหล่านี้เสื่อมเสียชื่อเสียง รวมถึงพยายามก่อให้เกิดความแตกแยก ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการนี้เล่าว่า ใช้ยุทธศาสตร์การสร้างบัญชีปลอมเพื่อโจมตีผู้วิจารณ์รัฐบาลด้วยการสร้างบทสนทนาก่อกวน100 โดยกอ.รมน. ระบุว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง แต่อธิบายว่าปฏิบัติการนี้เป็นเพียงการฝึกฝนเพื่อจัดการกับข่าวปลอม101
ในเดือนสิงหาคม 2564 สมาชิกรัฐสภาของพรรคก้าวไกลได้เปิดเผยเอกสารที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างเครือข่ายบุคลากรของกองทัพไทยที่มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นในพื้นที่ออนไลน์ รวมถึงทหารที่ได้รับมอบหมายให้เผยแพร่ความเห็นด้านบวกต่อรัฐบาล ตอบโต้ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และจับตามองบุคคลทางการเมืองฝั่งตรงข้ามในโลกออนไลน์ ส.ส.ก้าวไกลคนดังกล่าวยังได้วิพากษ์วิจารณ์คำของบประมาณของ กอ.รมน. จำนวน 361 ล้านบาทสำหรับการทำยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร หรือปฏิบัติการไอโอ102 ในปี 2564 มีข่าวว่ากองทัพเซ็นสัญญากับบริษัทประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาปฏิบัติการไอโอ103 และ "กองทัพไซเบอร์" ที่แพร่กระจายข้อมูลเท็จทางออนไลน์ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากมากขึ้นเรื่อยๆ
ในเดือนพฤษภาคม 2565 ศาลแพ่งกรุงเทพได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงอังคณา นีละไพจิตรและอัญชนา หีมมิหน๊ะซึ่งกล่าวหาว่า กอ.รมน. ฝ่าฝืนระเบียบการปฏิบัติราชการจากกรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนกล่าวหาเพื่อชักจูงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับตน104
รัฐบาลไทยได้ทุ่มทุนในโครงการที่อ้างว่ามีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับข้อมูลเท็จ โดยกระทรวงดีอีเอสจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อต่อต้านข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ซึ่งถือเป็นความผิดภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 105 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนี้รายงานข่าวที่รัฐถือว่าเป็นเท็จ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 และเผยแพร่ข้อมูลที่ “แก้ไข” เนื้อหาเหล่านั้น ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีการจัดตั้งศูนย์แห่งใหม่ภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรม เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องการแพร่ระบาดที่ถือว่าเป็นเท็จและบั่นทอนการบรรเทาการแพร่ระบาดของรัฐ106 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการเผยแพร่ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมด 3 ระดับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 107
ผู้สังเกตการณ์บางส่วน รวมทั้งผู้นำของพรรคอนาคตใหม่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไม่ได้จัดการกับข้อมูลที่บิดเบือน หากข้อมูลเหล่านั้นมุ่งเป้าไปที่พรรคฝ่ายค้าน108 ในทางกลับกัน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมุ่งเป้าดำเนินการกับผู้ใช้ที่โพสต์เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ (ดู ค3) ในขณะที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการจัดกัดเสรีภาพการแสดงออก นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกย่องเจ้าหน้าที่ที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ต่อต้าน “ข่าวปลอม” ในแถลงการณ์เดือนกันยายน 2564109 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมรายงานว่าตรวจพบมากกว่าหนึ่งล้านข่าวปลอมในพื้นที่ออนไลน์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงสิ้นปี 2564110
มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจหรือกลไกการกำกับดูแลซึ่งลดทอนความสามารถของผู้ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์หรือไม่ – 2
สื่อหลายแห่งพบอุปสรรคในการหารายได้จากโฆษณาให้เพียงพอต่อการประกอบกิจการ ซึ่งจำกัดขีดความสามารถในการเผยแพร่เนื้อหาที่หลากหลาย ร่างกฎหมายที่ถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีโทษปรับสื่อออนไลน์ในข้อหาละเมิดจริยธรรม ซึ่งจะยิ่งจำกัดทรัพยากรของสื่อมากขึ้นไปอีก ร่างกฎหมายนี้ยังใช้ภาษาที่จูงใจให้สื่อต่างๆ ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่อีกด้วย
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ร่างกฎหมายกำหนดให้องค์กรสื่อจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อที่จะถูกแต่งตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งจะดูแลกิจกรรมและกำหนดมาตรฐานจริยธรรมสำหรับการรายงานข่าว หากองค์กรสื่อใดไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตและถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรของสื่อถูกจำกัดมากขึ้นไปอีก111
ก่อนหน้านี้ กสทช. เผยความตั้งใจที่จะตรวจสอบปริมาณรายได้โฆษณาของสื่อดิจิทัลเทียบกับรายการวิทยุโทรทัศน์แบบดั้งเดิม112 รวมถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายของบริษัทโทรคมนาคมโดยสื่อดิจิทัล ส่วนกฎภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2564 กำหนดให้ผู้ให้บริการดิจิทัลต่างประเทศต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์จากการขาย หากมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาต่อปี113
ในทำนองเดียวกัน กระทรวงดีอีเอสได้หารือเกี่ยวกับการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลสำหรับธุรกิจให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over-The-Top) ในประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ที่การประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียนปี 2562114 แนวทางปฏิบัตินี้อาจบังคับให้มีการจัดเก็บรายได้ในทุกประเทศในอาเซียนและจัดตั้งศูนย์แห่งใหม่เพื่อกำกับดูแลและกลั่นกรองเนื้อหา แม้คาดว่าแนวทางนี้จะแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563115 แต่ก็ยังไม่เผยแพร่ออกมา ณ ช่วงระยะเวลาที่รายงานนี้สิ้นสุด116
ภูมิทัศน์ของข้อมูลในโลกออนไลน์ขาดความหลากหลายและความน่าเชื่อถือหรือไม่ – 2
ความหลากหลายของความเห็นในโลกออนไลน์ถูกจำกัดโดยการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่จำกัดเสรีภาพ ซึ่งมุ่งควบคุมเนื้อหาออนไลน์โดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการลบเนื้อหา ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ และการเซ็นเซอร์ตัวเองที่ทำให้เนื้อหาไม่หลากหลาย (ดู ข2 ข4 ข6 และ ค3) อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสังคมออนไลน์และสื่อดิจิทัลเปิดโอกาสให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลที่โดยปกติแล้วจะถูกจำกัดในสื่อดั้งเดิม สภาพแวดล้อมของโซเชียลมีเดียในประเทศไทยค่อนข้างมีชีวิตชีวา
ตามรายงาน Digital 2022 ของ DataReportal มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียในประเทศไทย 56.9 ล้านคนในเดือนมกราคม 2565 แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือเฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต็อก และอินสตาแกรม117 เนื่องจากพื้นที่ออฟไลน์มีข้อจำกัดในการแสดงออก การชุมนุม และการรวมกลุ่ม กลุ่มภาคประชาสังคม นักกิจกรรม และเยาวชนที่ทำกิจกรรมการเมืองจึงหันไปใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์เพื่อแสดงความคิดเห็นและสนับสนุนให้เกิดแรงผลักดันเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน118
สำนักข่าวซินหัวภายใต้การบริหารของรัฐบาลจีนใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับกลุ่มสื่อต่างๆ ของไทย เช่น วอยซ์ออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์ สนุก เครือมติชน และหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ ในการเผยแพร่ข่าวของรัฐที่แปลจากภาษาจีน ซึ่งเป็นการขยายอิทธิพลของรัฐบาลจีน119 ในเดือนธันวาคม 2563 Khaosod English สื่อในไทยตัดสินใจไม่ต่ออายุการเป็นหุ้นส่วนกับซินหัว120
เงื่อนไขต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้ในการเคลื่อนไหว จัดตั้งชุมชน และทำงานรณรงค์ โดยเฉพาะในประเด็นการเมืองและสังคมหรือไม่ – 3
ผู้ใช้ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ แอปพลิเคชั่นแชท และเว็บไซต์ยื่นคำร้องออนไลน์ได้ และช่องทางเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวทางดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการถูกดำเนินคดีทางอาญาและตกเป็นเป้าของการล่วงละเมิดหรือการใช้ความรุนแรงบั่นทอนกำลังใจในการเคลื่อนไหวดังกล่าว (ดู ค3 และ ค7)
การประท้วงเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ แม้ว่าการสนทนาออนไลน์และการเคลื่อนไหวด้วยวิธีทางดิจิทัลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มีค่อนข้างน้อย (ดูหน้า ข4) แต่นักเคลื่อนไหวใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งปันข้อมูลและจุดประกายการพูดคุยเรื่องนี้ระหว่างช่วงการประท้วงในปี 2563-2565 ตัวอย่างเช่น แฮชแท็ก “ถ้าการเมืองดี” ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ นำไปสู่การสนทนาเรื่องแง่มุมต่างๆ ที่เป็นไปได้ของการเมืองไทยภายใต้โครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้121 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยใช้แฮชแท็ก เช่น #WhatsHappeninginThailand สำหรับแชร์ข้อมูลการประท้วงเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ เพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากนานาชาติ และแฮชแท็กดังกล่าวเริ่มถูกใช้อย่างกว้างขวางในเดือนตุลาคม 122 ในปี 2564 แฮชแท็กสี่อันดับแรก ได้แก่ #ม็อบ18กรกฎา #ม็อบ1สิงหา #ม็อบ7สิงหา และ #ม็อบ10สิงหา ซึ่งทั้งหมดสื่อถึงการชุมนุมประท้วง และถูกกล่าวถึงทั้งหมดรวมเป็น 38.1 ล้านครั้ง123
รัฐบาลระงับหรือพยายามระงับการเข้าถึงแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานระหว่างการประท้วงเหล่านี้ ในเดือนตุลาคม 2563 รัฐบาลได้สั่งปิดกั้น Change.org หลังจากมีผู้ใช้สร้างแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันเพิกถอนความคุ้มกันทางการทูตของพระมหากษัตริย์ (ดู ข1) เว็บไซต์ no112.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมคำร้องเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ถูกปิดกั้นหรือไม่สามารถเข้าถึงได้หลายครั้งในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ (ดู ข1)124 นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งข้อหาต่อบุคคลที่ทำการรณรงค์ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่ออนไลน์ ทิวากร วิถีตนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นในเดือนมีนาคม 2565 จากการรณรงค์บน Change.org เพื่อเรียกร้องให้มีการลงประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ (ดู ค7)125
ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการเคลื่อนไหวในพื้นที่ออนไลน์ ร่างนี้ได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และลงวันที่ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยมีบทบัญญัติจำนวนมากที่กำหนดมาตรการที่เข้มงวดรุนแรงเพื่อควบคุมองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดนิยามไว้อย่างชัดเจน และสมาชิก เนื่องจากกฎหมายนี้ใช้ภาษาที่คลุมเครือมาก การกระทำใดๆ ก็ตามอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนได้126 กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้
การหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 มีส่วนสนับสนุนให้การเคลื่อนไหวออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่เยาวชน โดยแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลังเหตุการณ์ผ่านไปมากกว่าเดือน (ดู ค7)127 นอกจากนี้ แฮชแท็ก #ยกเลิก112 ยังถูกทวีตบ่อยครั้งหลังจากการหายตัวไปของวันเฉลิม และถูกใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา128
ค. การละเมิดสิทธิของผู้ใช้
รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆ ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูล และเสรีภาพสื่อ ซึ่งรวมไปถึงในพื้นที่อินเทอร์เน็ต หรือไม่ และกฎหมายเหล่านี้ถูกบังคับใช้โดยฝ่ายตุลาการที่ขาดความเป็นอิสระหรือไม่ – 0
รัฐบาลทหารร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 และรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มาตรา 25 บัญญัติว่าสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงได้รับการปกป้องตราบใดที่ “มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น” และกำหนดให้การใช้สิทธิเหล่านั้นต้องไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยสาธารณะ ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 จำกัดทั้งการแสดงออกทางออนไลน์และเสรีภาพสื่อ และรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดนี้ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อจัดการกับการระบาดของโควิด 19 คณะรัฐมนตรีได้ขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินซ้ำแล้วซ้ำอีก ตลอดระยะเวลาของรายงานนี้129 ในเดือนกันยายน 2565 ทางการประกาศว่าภาวะฉุกเฉินจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม130 ในเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อบังคับข้อที่ 29 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อบังคับนี้จะอนุญาตให้ระงับบริการอินเทอร์เน็ตของผู้ที่เผยแพร่เนื้อหาที่อาจ "ก่อให้เกิดความหวาดกลัว" "ทำให้เข้าใจผิด" หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ในเดือนสิงหาคม 2564 ประยุทธ์ได้เพิกถอนระเบียบดังกล่าวหลังจากที่ศาลแพ่งสั่งระงับ131 ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลว่ากฎระเบียบใหม่นี้จะอนุญาตให้รัฐบาลมุ่งเป้าไปที่เนื้อหาที่ไม่ใช่ข้อมูลเท็จ หลังศาลมีคำพิพากษา นายกฯ ได้เพิกถอนข้อบังคับฉบับนี้ไป132
มีการคาดการณ์ว่าพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจะกลายเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการรับมือโควิด 19 ของประเทศไทยหลังสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง ภาคประชาสังคมไทยและผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติแสดงความกังวลเกี่ยวกับบทบัญญัติของกฎหมายที่มีลักษณะเผด็จการ ซึ่งอาจจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะที่คล้ายกับพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงยังมีความกังวลว่าพ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อเดือนกันยายน 2564 นั้นขาดความโปร่งใส133
ตุลาการของไทยมีความเป็นอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ ศาลมักประสบปัญหาคือถูกครอบงำทางการเมืองและทุจริต134 และบ่อยครั้งศาลไม่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกได้ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เท่ากับการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก135
ศาลรัฐธรรมนูญออกหมายเรียผู้โพสต์เนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์หลายคน อย่างไรก็ดี ศาลจะเคยปฏิเสธคำร้องของรัฐบาลที่ขอให้ปิดกั้นเนื้อหาที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และในคดีอาญาระดับบุคคลบางคดี ศาลตัดสินเข้าข้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี (ดู ข3 และ ค3)136
มีกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาหรือทางแพ่งเกี่ยวกับการทำกิจกรรมออนไลน์ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่ – 0
กฎหมายหลายฉบับกำหนดบทลงโทษหนักเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในพื้นที่ออนไลน์ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
มาตรา 14(1) ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขห้ามนำข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยผู้เชี่ยวชาญตีความว่ามาตรานี้หมายถึงอาชญากรรมทางเทคนิค เช่น การโจรกรรมข้อมูล137 อย่างไรก็ตาม กฎหมายข้อนี้ถูกตีความอย่างกว้างขวางและถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อข่มขู่และปิดปากผู้วิจารณ์138 ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่าการตีความเช่นนี้ทำให้กฎหมายนี้ถูกใช้ในคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (SLAPPs) ซึ่งเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรขนาดใหญ่ฟ้องผู้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อข่มขู่และปิดปาก
ส่วนอื่นๆ ที่เป็นปัญหาในพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับเดิมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมาตรา 14(3) ซึ่งกำหนดโทษอาญาให้กับออนไลน์ที่ถือว่า “ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” ประมวลกฎหมายอาญาของไทยมีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวออนไลน์ที่ถูกกฎหมายได้รับโทษเพิ่ม (ดู ค3) ข้อหายุยงปลุกปั่นเป็นความผิดในมาตรา 116 และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดในมาตรา 112 เป็นต้น
กฎระเบียบที่ออกระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินระบุโทษทางอาญาในกรณีการนำเสนอหรือการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ถือเป็นเท็จ จงใจบิดเบือนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือทำลายศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน139 ผู้ที่ฝ่าฝืนสามารถถูกดำเนินคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2548 ซึ่งกำหนดว่าบุคคลใดก็ตามที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกิน 40,000 บาท140
ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2565 จะกำหนดระบบค่าปรับเป็นขั้น สื่อที่กระทำผิดอาจถูกปรับสูงสุด 10,000 บาท ขั้นต่ำ 20,000 บาทหรือขั้นต่ำ 30,000 บาท141
บุคคลต่างๆถูกลงโทษเพราะการทำกิจกรรมออนไลน์หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีสิทธิตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล – 1
การเปลี่ยนแปลงของคะแนน: คะแนนดีขึ้นจาก 0 เป็น 1 เนื่องจากไม่มีการกำหนดโทษจำคุกขั้นรุนแรงต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวยังคงถูกจับกุมและถูกจำคุกเป็นเวลาหลายปีจากการกระทำในพื้นที่ออนไลน์ เจ้าหน้าที่ยังคงใช้ประโยชน์จากมาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งอื่นๆ ที่อาจตีความได้กว้าง เพื่อปิดปากนักการเมืองฝ่ายค้าน นักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มประชาสังคมในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้
ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาภายใต้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 (ซึ่งกล่าวถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และ 116 (ยุยงปลุกปั่น) ในประมวลกฎหมายอาญาจากการเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในปี 2563-2565 (ดู ข8) หลังการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐบาลยกเลิกแนวปฏิบัติก่อนหน้าซึ่งหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องและดำเนินคดีตามมาตรา 112142 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมิถุนายน 2565 มีการรายงานคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างน้อย 216 คดีต่อบุคคล 201 คน รวมทั้งนักเรียนมหาวิทยาลัยและผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งในจำนวนนี้ 107 คนถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ 143
จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกดำเนินคดีหลายคดี โดยบางรายอาจต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 120 ถึง 300 ปี พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมได้รับการประกันตัวเป็นเวลา 3 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หลังจากถูกควบคุมตัวนานกว่าหกเดือน พริษฐ์ถูกตั้งข้อหาพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 112 และมาตรา 116 หลายข้อหา เขาถูกฟ้องเนื่องด้วยโพสต์บนเฟซบุ๊ก 2 โพสต์ในเดือนธันวาคม 2563 ที่เกี่ยวข้องกับการหย่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากอดีตพระวรชายา และการจัดงานศพที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อาสาสมัครเคยถูกจับมาแล้ว144 พริษฐ์อาจต้องโทษจำคุกนานหลายร้อยปีหากถูกตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อกล่าวหา145
“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวผู้ถูกจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เมื่อเดือนมีนาคม 2565 จากการถ่ายทอดสดขบวนเสด็จ พร้อมระบุว่าผู้ชุมนุมถูกกันออกจากถนนเพื่อให้ขบวนรถผ่าน ทานตะวันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 60 นายจับกุมและกักขังไว้สองคืน เธอได้รับการประกันตัวด้วยเงิน 100,000 บาท146 ศาลเพิกถอนประกันของทานตะวันในเดือนเมษายน แต่ต่อมาเธอถูกกักบริเวณในบ้านหลังจากประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 36 วัน และสุขภาพของทานตะวันทรุดโทรมลงในเวลาต่อมา147
ในเดือนมีนาคม 2564 ในช่วงระยะเวลาของรายงานก่อนหน้านี้ ศุภากร พินิจบุตร์ วัย 21 ปี ได้รับโทษจำคุก 4 ปี 5 เดือนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กหลายบัญชีในการโพสต์รูปตัดต่อของพระมหากษัตริย์148 คดีหนึ่งที่มีการตัดสินโทษรุนแรงที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตเจ้าหน้าที่สรรพากร วัย 63 ปี ซึ่งถูกพิพากษาเมื่อเดือนมกราคม 2564 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 87 ปี ลดเหลือ 43 ปี หลังจากเธอยอมรับผิดฐานละเมิดมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์149 อัญชัญถูกตัดสินให้มีความผิดฐานอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” นักจัดรายการวิทยุวิจารณ์สถาบันลงยูทูป อัญชัญถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่ามีความผิดร้ายแรงและทำให้ผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับความชอกช้ำทางจิตใจ150
รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการควบคุมการแสดงออกของสาธารณชนในประเด็นอื่น ๆ และกำหนดบทลงโทษที่เกินควร ในเดือนพฤษภาคม 2565 เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้รับโทษจำคุก 1 ปีจากการละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อันเนื่องมาจากเขาโพสต์บนอินเทอร์เน็ตพูดถึงความแออัดยัดเยียดและสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะของเรือนจำในกรุงเทพมหานคร151 สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดของผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สมบัติเคยเขียนข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในปี 2563152
ในเดือนกันยายน 2564 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาและนักกิจกรรมถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการใช้เพจเฟซบุ๊กของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำโดยนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย จากรายงานข่าว ปนัสยาถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น เธอได้รับการประกันตัวด้วยจำนวนเงิน 35,000 บาท153 ปนัสยาจะถูกจำคุกมากถึง 135 ปี หากพบว่ามีความผิดในทุกข้อกล่าวหา154
หน่วยงานที่รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมายใช้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และการประกาศภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดเพื่อจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ในเดือนกันยายน 2563 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้จัดตั้งขึ้นภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและ “ข่าวปลอม” กองบัญชาการฯ นี้ประกอบไปด้วยเจ็ดแผนกที่จัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ประเภทต่างๆ155 กระทรวงดีอีเอสเปิดเผยว่าได้คำเนินคดีกับ “ข่าวปลอม” อย่างน้อย 135 รายการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2564156
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกจับกุมภายใต้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2563 ภายใต้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และในข้อหาหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด19 หรือการจัดการกับโรคระบาดโดยรัฐบาล157 ในเดือนกรกฎาคม 2564 แร็ปเปอร์ “มิลลิ” ดนุภา คณาธีรกุล ถูกปรับ 2,000 บาท เนื่องจากวิจารณ์การจัดการกับแพร่ระบาดที่ล่าช้าของรัฐบาลผ่านทวิตเตอร์ หลังดาราไทยเริ่มแสดงความไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น กระทรวงดีอีเอสเตือนว่าพวกเขาอาจถูกดำเนินคดีภายใต้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในข้อหา “บิดเบือนข้อมูลและนำเผยแพร่ข่าวปลอมลงในโซเชียลมีเดีย”158
ในเดือนมกราคม 2564 กระทรวงดีอีเอสได้ยื่นฟ้องธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาฐานวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด19 แต่เพียงผู้เดียวของสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งบริษัทเป็นของพระมหากษัตริย์159 การฟ้องดังกล่าวนั้นอ้างวิดีโอ Facebook Live ความยาว 30 นาทีที่ถูกอัปโหลดลงบนยูทูป ซึ่งเนื้อหาเป็นการแสดงความคิดเห็นของธนาธร160 ในเดือนสิงหาคม 2564 ธนาธรถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มอีก 2 ข้อหาจากการคำพูดของเขา ในเดือนเมษายน 2565 อัยการสั่งฟ้องธนาธรทั้งสองข้อหา ซึ่งมีโทษจำคุกรวมกันสูงสุด 20 ปี แต่เขาได้รับการประกันตัว161
ในเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากระยะเวลาของรายงานนี้ ประชาชนคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 12 ปีจาก 4 ข้อความที่เขาโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส โดยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โทษจำคุกลดลงเหลือ 6 ปีหลังจากเขายอมรับว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 14(3) ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์162 เขาได้รับการประกันตัวออกมา นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2565 ผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย 3 คนถูกฟ้องในข้อหาเผยแพร่วิดีโอโฆษณาของลาซาด้าในเดือนพฤษภาคม 2565 และถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์163 ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและเลขาธิการคณะก้าวหน้าถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ในเดือนมิถุนายน 2565 จากการโพสต์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยในทวิตเตอร์164
หลายคดีที่เกิดขึ้นช่วงระยะเวลารายงานก่อนหน้านี้ยังคงดำเนินต่อไป กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยถูกจับกุมและตั้งข้อหาภายใต้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในเดือนตุลาคม 2562 จากการแชร์โพสต์บนเฟซบุ๊กที่กล่าวถึงชะตากรรมอันรุนแรงที่สถาบันพระมหากษัตริย์ต่างประเทศประสบ ภายหลังกาณฑ์ได้ลบโพสต์และบัญชีโซเชียลมีเดียของเขา ในเดือนสิงหาคม 2563 เขาได้รับการประกันตัวที่ 100,000 บาท165 หากถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ในเดือนมิถุนายน 2565 ศาลยังไม่ได้มีคำตัดสินในกรณีนี้
ในอีกกรณีหนึ่ง ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ นิรนาม ถูกจับกุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากโพสต์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ 10 คน ทั้งตัวเขาและบิดา มารดาของเขาถูกสอบปากคำเป็นเวลาหกชั่วโมงโดยไม่มีหมายจับและไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาเขาถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 14(3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และในที่สุดได้รับการประกันตัวที่ 200,000 บาท166 ในเดือนมิถุนายน 2563 อัยการตัดสินใจไม่สั่งฟ้องคดี167 แต่อีกไม่กี่วันต่อมา นิรนามถูกตั้งข้อหาในความผิดที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพิ่มเติมและถูกเรียกตัวไปสอบปากคำ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด เขาต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 40 ปี168 ณ ระยะเวลาที่รายงานนี้สิ้นสุดลง คดีความยังคงดำเนินต่อไป
บริษัทเอกชนและบุคคลต่างๆ มักจะฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว และนักข่าว ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท จากการเคลื่อนไหวออนไลน์ของพวกเขา ในเดือนมิถุนายน 2563 ธรรมเกษตร บริษัทสัตว์ปีกแห่งหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องนางอังคณา นีละไพจิตร169 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา 2 ข้อหา ก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นฟ้องนางอังคณาหลังจากที่เธอแชร์ 2 ทวีตสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ต้องเผชิญกับข้อหาหมิ่นประมาทที่บริษัทยื่นฟ้อง170 ทั้งสองกรณียังคงดำเนินต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของรายงานนี้171
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในแง่ดีเกี่ยวกับการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์ ในเดือนมีนาคม 2565 ศาลอาญาได้ยกฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่นักเขียน หฤษฎ์ มหาทนถูกกล่าวหาว่าใช้ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ในแชทส่วนตัวในเฟซบุ๊กเมื่อปี 2559 คดีนี้ถูกยกฟ้องเนื่องจากคำฟ้องของอดีตหัวหน้าสำนักงานกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเพียงพยานบอกเล่าเท่านั้น ศาลจึงตัดสินว่าหลักฐานไม่เพียงพอ172 ในเดือนมิถุนายน 2563 ในช่วงของรายงานก่อนหน้านี้ ศาลตัดสินให้ธเนตร อนันตวงษ์ นักกิจกรรมพ้นผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น โดยสรุปว่าโพสต์บนเฟซบุ๊กของเขาเป็นตัวอย่างการแสดงออกทางการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ173
รัฐบาลได้จำกัดการสื่อสารแบบนิรนามหรือการสร้างรหัสเพื่อป้องกันข้อมูลหรือไม่ – 2
รัฐบาลได้พยายามจำกัดการสร้างรหัสเพื่อป้องกันข้อมูล (encryption) และประสบความสำเร็จในการจำกัดความเป็นนิรนามในพื้นที่ออนไลน์
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กสทช. ได้สั่งให้ผู้ให้บริการมือถือทุกรายเก็บลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้าจากผู้ลงทะเบียนซิมการ์ด กระบวนการนี้จำเป็นสำหรับผู้ใช้ซิมการ์ดใหม่ทั้งหมด โดยผู้ใช้การ์ดเก่าจะต้องลงทะเบียนใหม่ ข้อมูลจะต้องถูกส่งไปยังที่เก็บกลางที่ กสทช.174 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบมาอย่างยาวนาน นโยบายนี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น มาตรการระบุตัวตนที่มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2562 ในสามจังหวัดกำหนดให้บุคคลต้องลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยการสแกนใบหน้า175 และโทรศัพท์จำนวนหนึ่งถูกตัดการเชื่อมต่อตั้งแต่เดือนเมษายน 2563176 กลุ่มประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเตือนว่าข้อกำหนดนี้อาจเป็นอันตรายต่อความเป็นส่วนตัว จำกัดเสรีภาพอื่น ๆ และนำไปสู่การเก็บข้อมูลที่สร้างอคติ (profiling) ต่อประชากรเชื้อสายมาเลย์มุสลิม177
ในช่วงต้นปี 2560 รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อทำให้การสร้างรหัสเพื่อป้องกันข้อมูลเป็นเรื่องยากขึ้น มาตรา 18(7) ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้บุคคล "ถอดรหัสข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด ๆ" โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล178 แม้ว่าบางบริษัทอาจไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้ แต่ผู้ให้บริการหรือบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาตามคำขออาจถูกลงโทษได้ตามกฎหมายนี้
การสอดแนมกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตโดยภาครัฐลิดรอนสิทธิของผู้ใช้ในด้านความเป็นส่วนตัวหรือไม่ – 1
รัฐบาลตรวจสอบโซเชียลมีเดียและการสื่อสารส่วนตัวของประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ และมีการกำกับดูแลเพียงจำกัดเท่านั้น ประเทศไทยมีชุดนโยบายที่ซับซ้อนซึ่งมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการสื่อสารออนไลน์ แต่ยังขาดกรอบทางกฎหมายที่กำหนดกลไกความรับผิดชอบและความโปร่งใสในเรื่องการสอดส่องที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มาตรา 18(1) ถึง 18(3) ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อนุญาตให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้หรือข้อมูลการจราจรโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล และบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตถอดรหัสข้อมูลที่โปรแกรมไว้179
หน่วยงานของรัฐมีเทคโนโลยีการตรวจตราที่หลากหลาย ในเดือนกรกฎาคม 2565 หลังจากระยะเวลาของรายงานนี้ การสืบสวนจาก Citizen Lab iLaw และ Digital Reach ระบุว่าโทรศัพท์มือถือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทยอย่างน้อย 30 ถูกโจมตีโดยสปายแวร์เพกาซัส (Pegasus) บุคคลเหล่านี้ประกอบไปด้วยผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยและนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งโทรศัพท์ของพวกเขาถูกเจาะระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึงพฤศจิกายน 2564180 การตรวจสอบในประเด็นนี้เกิดขึ้นหลังจากนักการเมือง นักกิจกรรม และนักวิชาการไทยได้รับอีเมลจาก Apple ในเดือนพฤศจิกายน 2564 แจ้งว่า “ผู้โจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐ” อาจกำลังเจาะเข้ามาที่ iPhone ของพวกเขา181
รายงานปี 2563 โดย Citizen Lab ระบุว่าประเทศไทยน่าจะเป็นลูกค้าของ Circles Technology182 ในขณะที่รายงานของ Citizen Lab ปี 2561 ระบุถึงบริษัทหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังเพกาซัสและน่าจะมุ่งความสนใจมาที่เป้าหมายในประเทศไทยเป็นหลัก183 ประเทศไทยยังได้รับใบอนุญาตนำเข้าเครื่องดักสัญญาณโทรคมนาคมจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร184 อ้างอิงจาก Privacy International ใบอนุญาตนี้ระบุถึงความเป็นไปได้ในการได้มาซึ่งอุปกรณ์ดักจับ IMSI (ข้อมูลประจำตัวผู้ใช้บริการมือถือระหว่างประเทศ) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ดักข้อมูลจากโทรศัพท์ทุกเครื่องในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะเป็นจุดประสงค์หลักของการสืบสวนหรือไม่
การเฝ้าสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลในประเทศไทย รัฐพยายามตอบโต้ข้อมูลเท็จด้วยการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมขึ้นในปี 2562 และ 2564 ซึ่งหมายความว่ารัฐต้องคอยเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเนื้อหานั้นจะถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นคนอีกทีหนึ่ง (ดู ข5)185 การเฝ้าสอดส่องอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะบัญชีโซเชียลมีเดีย นำไปสู่ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างมาก อีกทั้งประเทศไทยยังมาตราที่ชัดเจนหรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการคุ้มครองข้อมูลที่ถูกเก็บโดยรัฐ186 รายชื่อที่อยู่ในการเฝ้าระวังของตำรวจที่ถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 มีนักเคลื่อนไหวและนักข่าวออนไลน์หลากหลาย พร้อมกับชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียของพวกเขา187 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงดีอีเอสเตือนพนักงานของรัฐว่าการใช้แอปพลิเคชัน Clubhouse พวกเขาถูกเฝ้าดูอยู่ตลอด และผู้ใดที่บิดเบือนข้อมูลหรือละเมิดกฎหมายในแอปพลิเคชันนี้จะเจอบทลงโทษ188
พระราชบัญญัติข่าวกรองแห่งชาติ 2562 อนุญาตให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใด ๆ หากข้อมูลนั้นมีผลกระทบต่อ “ความมั่นคงของชาติ” ซึ่งเป็นคำที่ยังไม่ถูกจำกัดความแน่ชัด (ดู ค6) หากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดไม่ให้ความร่วมมือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติอาจ “ใช้วิธีการใดๆ รวมทั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว189
กระทรวงดีอีเอสได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน หมอชนะ และไทยชนะ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อติดตามผู้ติดเชื้อ และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด 19190 ทุกคนที่เดินทางมาถึงไทยจากต่างประเทศจำเป็นต้องใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ ซึ่งเน้นเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ถึงแม้มีการรายงานว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เพียงช่วงของการกักตัวเท่านั้น191 แต่ความคลุมเครือเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างมาก192 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หมอชนะถูกยกเลิกเนื่องจากรัฐมองว่าการใช้แอปพลิเคชันนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป193 ทั้งยังไม่ได้มีคำสั่งบังคับใช้ไทยชนะต่อและไม่ค่อยมีใครใช้แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐไม่ได้สั่งยกเลิกการใช้งานแอปพลิเคชันนี้อย่างเป็นทางการ
สิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ถูกละเมิดเพราะการเฝ้าตรวจสอบและเก็บข้อมูลผู้ใช้โดยผู้ให้บริการและบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ หรือไม่ – 1
รัฐบาลไทยรวมโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตไว้ที่ศูนย์กลางและมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยให้การเฝ้าตรวจตราของรัฐบาลไปเป็นได้ง่ายขึ้น194
มาตรา 15 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้ เนื่องจากหากพบว่ามีการ "ให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ" ผู้ให้บริการอาจได้รับโทษตามมาตรา 14 ได้195 หมายความว่า ถ้าไม่ตรวจสอบสิ่งที่ผู้ใช้แชร์ ไม่ลบข้อมูล หรือไม่ส่งข้อมูลของผู้ใช้กับรัฐบาล อาจถูกมองว่าร่วมมือหรือยินยอมการกระทำที่ผิดกฎหมายนั้น นอกจากนี้ การแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ให้บริการกักเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้นานถึงสองปี เพิ่มขึ้นจากฉบับปี 2550 ที่กำหนดให้เพียง 1 ปี ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วันตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ข้อมูลนี้จะรวมถึงข้อมูลที่อนุญาตให้ระบุตัวตนของผู้ใช้ ถ้าไม่เก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้เจอโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งเพิ่มภาระทางการเงินให้กับผู้ให้บริการ196
ในเดือนตุลาคม 2019 กระทรวงดีอีเอสพยายามบังคับใช้ข้อกฎหมายเรื่องเก็บรักษาข้อมูลอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยสั่งให้ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆ ที่ให้บริการ Wi-Fi สาธารณะเพื่อเก็บข้อมูลของผู้ใช้ รวมถึงชื่อ ประวัติการท่องเว็บ และไฟล์บันทึก เป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน197 คำสั่งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรักษาข้อมูลสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและเพื่อต่อต้านการแชร์เนื้อหาที่เป็นเท็จโดยเจตนาซึ่งมีโทษตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์หรือกฎหมายอื่นๆ (ดู ข5 และ ค2)
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลปี 2562 มีกำหนดบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2563 แต่การบังคับใช้กฎหมายบางประการล่าช้าไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 หลังสิ้นสุดระยะเวลาของรายงานนี้แล้ว198 กฎหมายระบุแนวทางการรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของธุรกิจ199 และบังคับใช้กับบริษัทรวบรวมและการประมวลผลข้อมูลต่างประเทศด้วย หากบริษัทเหล่านั้น ประมวลผลข้อมูลของบุคคลในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีข้อยกเว้นอยู่จำนวนหนึ่ง มาตรา 4 ยกเว้นกิจกรรมใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงของชาติ ตั้งแต่ความปลอดภัยทางการเงินไปจนถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นสำหรับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยส.ส.หรือส.ว.200 ภายใต้มาตรา 26 หน้าที่ของกฎหมายในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะถือเป็นเหตุผลตามกฎหมายในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน รวมถึงข้อมูลไบโอเมตริกซ์ โดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูล201 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขาดการป้องกันการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยอัตโนมัติ แม้ว่าแนวปฏิบัติจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กำหนดให้ระบบอัตโนมัติที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ข้อจำกัดของระบอบกฎหมายอาจไม่เพียงพอต่อการปกป้องความเป็นส่วนตัว
คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถูกก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2565202 คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีสมาชิก 16 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความรับผิดชออบเรื่องการปกป้องสิทธิของผู้ใช้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยปกติแล้วหน่วยงานของรัฐต้องมีหมายค้นก่อนที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในปี 2555 อนุญาตให้ผู้ตรวจสอบสามารถสกัดกั้นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาลในบางกรณี รวมถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในกรณีที่ต้องขอคำสั่งศาล ผู้พิพากษาไทยมักอนุมัติคำร้องโดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างจริงจัง
พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องความเป็นส่วนตัวส่วนบุคคลและให้อำนาจแก่รัฐบาลอย่างกว้างขวางในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบโดยศาลหรือการกำกับดูแลในรูปแบบอื่นๆ203 ในประเด็นที่ถือกำหนดว่าเป็น “ภัยคุกคามระดับวิกฤต” เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูล และดึงและเก็บรักษาสำเนาของข้อมูลที่เก็บได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามแจ้งบุคคลที่ได้รับผลกระทบ และไม่มีการนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในส่วนของข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เก็บไว้204
ในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีรายงานการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและผู้ให้บริการโทรคมนาคมเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2563 เอกสารชุดหนึ่งรั่วไหลออกมาจากการประชุมระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงดีอีเอส สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม โดยเอกสารนี้อ้างว่ารัฐบาลมีแผนใช้เครื่องมือบิ๊กดาต้าเพื่อเฝ้าระวังไวรัสโคโรนาและเข้าถึงข้อมูลเรื่องตำแหน่งที่ตั้งผ่านผู้ให้บริการ เช่น AIS DTAC TRUE CAT Telecom TOT205 กระทรวงกลาโหมปฏิเสธรายงานดังกล่าว แต่ยืนยันว่าได้พบกับผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่เพื่อพูดคุยเรื่องการเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา206 มีรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและกระทรวงดีอีเอสถูกขอให้จัดการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ
เฟซบุ๊กและกูเกิลรายงานคำขอเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้โดยรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2564 กูเกิลได้รับคำขอข้อมูล 4 รายการที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้หรือบัญชี 9 บัญชี แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอ207 ในช่วงเวลาเดียวกัน เฟซบุ๊กได้รับคำขอ 179 รายการเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ใช้หรือบัญชี 221 บัญชีและให้ข้อมูล 55 เปอร์เซ็นต์ของคำขอทั้งหมด208 ทวิตเตอร์รายงานว่ามีคำขอข้อมูล 24 รายการที่เกี่ยวกับบัญชีจำนวน 29 บัญชี แต่ทางบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามคำขอเลย209
บุคคลทั่วไปถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือผู้กระทำอื่นๆ ข่มขู่ด้วยวิธีนอกเหนือกฎหมายหรือถูกกระทำความรุนแรงทางกาย เพราะเหตุผลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวออนไลน์หรือไม่ – 2
การเปลี่ยนแปลงของคะแนน: คะแนนดีขึ้นจาก 1 เป็น 2 เนื่องจากไม่มีรายงานของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เผชิญกับการตอบโต้โดยตรงเพราะการเคลื่อนไหวออนไลน์ในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ อย่างไรก็ตาม นักข่าวออนไลน์ประสบกับความรุนแรงในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ และแคมเปญการล่วงละเมิดทางออนไลน์อย่างกำหนดเป้าหมายยังคงพบเห็นได้ทั่วไป นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตกเป็นเหยื่อของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล การคุกคามทางออนไลน์ การข่มขู่นอกกฎหมาย และความรุนแรงซึ่งการกระทำเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการกระทำทางออนไลน์ของพวกเขาอย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่ทราบเบาะแสของนักกิจกรรมที่ถูกทำให้สูญหายก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงระยะเวลาของการรายงานนี้ ไม่มีรายงานของบุคคลที่ถูกทำให้สูญหายเพิ่มเติมในประเทศไทย
นักข่าวออนไลน์หลายคนได้รับบาดเจ็บขณะรายงานข่าวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งมักเจอกับการปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ210 ตัวอย่างเช่น ในเดือนกรกฎาคม 2564 ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ นักข่าวจากนิตยสารออนไลน์ Plus Seven ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางที่ตำรวจยิง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เขากำลังเก็บภาพการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่211 นอกจากนี้ ตำรวจยังสอบสวนนักข่าวที่รายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงของการรายงานนี้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งของทางการในการพยายามสร้างความหวาดกลัวในหมู่ผู้เห็นต่างและข่มขู่นักข่าว ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมเยือนสุรเมธ น้อยอุบล นักข่าวของสื่อเฟซบุ๊ก Friends Talk และนักข่าวนิรนามอีกคนหนึ่งจากกลุ่มข่าวเฟซบุ๊ก Live Real ในเดือนมกราคม 2565212
เจ้าหน้าที่ใช้วิธีข่มขู่ผู้ใช้เพื่อให้ลบเนื้อหาหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง (ดู ข2 และ ข4) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ทางการส่งตัวยัน มาร์ฉัล ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน ออกนอกประเทศและขึ้นบัญชีดำ คาดว่าน่าจะมาจากการที่เขาล้อเลียนรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์บนเฟซบุ๊กและติ๊กต็อก213
ในช่วงระยะเวลาของรายงานก่อนหน้า มีการบันทึกกรณีหนึ่งที่รุนแรงคือในเดือนกรกฎาคม 2563 ทิวากร วิถีตนเป็นที่รู้จักในโซเชียลมีเดียจากการสวมเสื้อที่มีข้อความว่า "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ตำรวจออกหมายเรียกและสั่งให้เขาหยุดสวมเสื้อ214 หลังทิวากรไม่ปฏิบัติตาม เขาถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลจิตเวชและถูกยึดคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แม่ของเขาถูกบังคับให้ลงชื่อในเอกสารโดยไม่ทราบว่าเนื้อหาในเอกสารนั้นคืออะไร ทิวากรได้รับการปล่อยตัวในที่สุด แต่ยังอยู่ภายใต้การสอดส่องและถูกห้ามไม่ให้พบกับครอบครัวในช่วงหนึ่ง215 เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นในเดือนมีนาคม 2565 จากการทำแคมเปญบน Change.org เรื่องการยกเลิกระบอบกษัตริย์ (ดู ข8)216
นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มักแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ออนไลน์ เช่น สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เอกชัย หงส์กังวาน และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ถูกโจมตีอย่างรุนแรงทั้งภายในและภายนอกประเทศไทยในช่วงระยะเวลาของรายงานก่อนหน้านี้217 ตำรวจไทยยังไม่มีการดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์เหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และบางครั้งก็หยุดการสอบสวนไป218 โดยโทษว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เอง219
บุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการคุกคามและการข่มขู่ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ (ดู ข2 และ ค3) ผู้เข้าร่วมบางคนในกลุ่มเฟซบุ๊ก Royalist Marketplace ถูกโจมตีทางโซเชียลมีเดีย ถูกตำรวจข่มขู่ หรือขู่ว่าจะตกงาน220 ผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยหลายร้อยคนก็ถูกกลุ่มผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์โจมตีเช่นกันในเดือนมิถุนายน 2564 ผู้ใช้ที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ได้สร้าง Google Maps 2 ฉบับที่มีข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม 500 คน และตั้งใจแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์กับคนกลุ่มนี้ด้วย221
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงและ LGBT+ และนักเคลื่อนไหวที่เพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดเคยถูกโจมตีและล่วงละเมิดในพื้นที่ออนไลน์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ต้องเจอกับอคติทางเพศบนโซเชียลมีเดียเพราะวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายทหาร นอกจากนี้ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ และ ชิษณุพงศ์ นิธิวนา นักเคลื่อนไหว LGBT+ รายงานว่าประสบกับการโจมตีในโลกออนไลน์เรื่องตัวตนและรูปลักษณ์222 ในปีก่อนๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวน กาติมา ลีจา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เธอร่วมวิพากษ์วิจารณ์ในวิดีโอบนเฟซบุ๊กเรื่องการใช้ความรุนแรงทางร่างกายในกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน 223
มีหลายครั้งที่ประชาชนที่เห็นต่างถูกลักพาตัวขณะอยู่ต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2563 ในช่วงของรายงานก่อนหน้านี้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำให้สูญหายใกล้บริเวณบ้านของเขาในกัมพูชา224 เขาถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และหายตัวไปหนึ่งวันหลังจากโพสต์วิดีโอที่เขาวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีของไทย ณ เดือนมิถุนายน 2565 ยังไม่มีข้อมูลว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหน225
ในเดือนพฤษภาคม 2562 นักเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ 3 คนซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย ได้แก่ สยาม ธีรวุฒิ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และกฤษณะ ทัพไทยถูกทำให้สูญหายในเวียดนามหลังจากเดินทางออกจากประเทศลาว กลุ่มภาคประชาสังคมรายงานว่าพวกเขาถูกส่งตัวให้ทางการไทยแล้ว แต่ทางการไทยปฏิเสธ226 ยังไม่มีใครทรายว่าตอนนี้พวกเขาอยู่ที่ไหน227 ในเดือนธันวาคม 2561 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านระบอบกษัตริย์ชาวไทยอีกสามคน ได้แก่ สุรชัย แซ่ด่าน ไกรเดช ลือเลิศ และชัชชาญ บุปผาวัลย์ หายตัวไปขณะอาศัยอยู่ในประเทศลาว228 ในเดือนมกราคม 2562 ศพของไกรเดชและชัชชาญถูกพบที่ชายแดนไทย-ลาว ยังไม่มีใครทราบที่อยู่ของสุรชัย รัฐบาลไทยปฏิเสธความรับผิดชอบของกรณีเหล่านี้เช่นเดียวกัน229
เว็บไซต์ หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ผู้ให้บริการ หรือผู้ใช้รายบุคคล ต้องเผชิญกับการถูกแฮกในวงกว้างหรือการจู่โจมทาง ไซเบอร์ในรูปแบบอื่นๆ หรือไม่ – 2
แม้ว่าจะมีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงระยะเวลาของรายงานนี้ แต่กลุ่มประชาสังคม นักข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางเทคนิคที่สนับสนุนโดยรัฐเพื่อตอบโต้กับงานของคนกลุ่มนี้
องค์กรสำคัญๆ รวมถึงหน่วยงานระดับสูงของรัฐบาล พรรคการเมือง สถาบันเกี่ยวกับการป้องกันและพลังงาน รวมถึงหน่วยงานและบุคคลในภาคเอกชน มักเจอกับโจมตีทางเทคนิค230 สมาชิกคณะกรรมการศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นและยากจะป้องกัน231 การโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าหลังจากการระบาดของโควิด 19232 ตัวอย่างเช่น สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งเป็นบริษัทสายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ในเดือนนั้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขโมยข้อมูลจำนวน 200 กิกะไบต์233 มีรายงานการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีชื่อเสียงหลายครั้งในเดือนกันยายน 2564 บันทึกข้อมูลผู้ป่วยประมาณ 16 ล้านรายการจากกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่าถูกโจรกรรมและนำไปขาย234 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ระบุว่าข้อมูลของผู้ป่วยเพียง 10,000 รายรั่วไหล235 ในเดือนมกราคม 2565 มีการรายงานว่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช 39 ล้านคนรั่วไหล236
พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562237 กฎหมายนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกัน จัดการ และบรรเทาการคุกคามทางไซเบอร์238 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของพ.ร.บ.นี้ไม่เป็นไปเพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ ตัวอย่างเช่น บริษัทโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่ได้รับมอบหมายให้จัดการโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สำคัญมีหน้าที่ต้องติดตามและรายงานภัยคุกคามทั้งหมดต่อรัฐบาลขณะที่กำลังพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้ ซึ่งอาจรวมถึงการส่งมอบข้อมูลลับให้กับรัฐบาลด้วย
- 1Digital 2022: Thailand, We are social and Kepios, https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand
- 2Digital 2022: Thailand, We are social and Kepios, https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand
- 3Ibid.
- 4“Thailand,” Ookla Speedtest Global Index, accessed September 11, 2022, https://www.speedtest.net/global-index/thailand.
- 5“5G is about to be real,” Bangkok Post, February 24, 2020, https://www.bangkokpost.com/tech/1864284/5g-is-about-to-be-real
- 6“AIS the first operator to launch 5G,” Bangkok Post, February 22, 2020, https://www.bangkokpost.com/business/1862934/ais-the-first-operator-to-…
- 7“AIS makes gains on 5G", Mobile Word Live, February 8, 2022, https://www.mobileworldlive.com/asia/asia-news/ais-makes-gains-on-5g
- 8Advanced Info Service Public Company Limited, “Annual Report 2021 (From 56- 1 One Report)”, https://investor.ais.co.th/misc/ar/2021/20220218-advanc-ar2021-en.pdf
- 9National Statistical Office, The 2018 (1st Quarter) Household Survey on the Use of Information and Communication Technology, 2018, http://tinyurl.com/y2xn2x5y; The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC), Report on the ICT Market for the 3rd Quarter of 2018, 2018, nbtc.go.th/Business/commu/telecom/informatiton/research/รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม/ปี-2561/35738.aspx.
- 10“Thailand,” Affordability Drivers Index, Alliance for an Affordable Internet, accessed April 12, 2022, https://a4ai.org/affordability-report/data/?_year=2021&indicator=INDEX&…;….
- 11National Statistical Office, The 2018 (1st Quarter) Household Survey on the Use of Information and Communication Technology, 2018, http://tinyurl.com/y2xn2x5y; The National Broadcasting and Telecommunications Commission (NBTC), Report on the ICT Market for the 3rd Quarter of 2018, 2018, nbtc.go.th/Business/commu/telecom/informatiton/research/รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม/ปี-2561/35738.aspx.
- 12“5G is coming- Thailand gets ready to transform,” Mathicon, February 3, 2018, https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_827237
- 13“5G is about to be real,” Bangkok Post, February 24, 2020, https://www.bangkokpost.com/tech/1864284/5g-is-about-to-be-real
- 14“How the spectrum price affects 5G development in Thailand,” Thailand Business News, September 24, 2019, https://www.thailand-business-news.com/economics/76028-how-the-spectrum…
- 15“True-DTAC formally announce merger plan”, Bangkok Post, November 22, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2219499/true-dtac-formally-announc…
- 16“House panel questions True, DTAC; seeks more clarity on merger deal”, Nation Thailand, March 3, 2022, https://www.nationthailand.com/business/40012992 ; “Government dragging its feet on new NBTC board”, Bangkok Post, February 5, 2022,
- 17"Authorities Continue on Net Across Thailand," Post Today, January 12, 2019, https://www.posttoday.com/economy/576713.
- 18Net Pracharat, https://netpracharat.com/Netpracharat_EN/one-page/
- 19“Training Leaders for Utilising Net Pracharat,” Chiang Mai News, December 24, 2017, https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/655398.
- 20“NBTC: Data use up 11.1%,” Bangkok Post, April 3, 2020, https://www.bangkokpost.com/business/1892055/nbtc-data-use-up-11-1-
- 21“Operators prep low-cost data use package,” Bangkok Post, January 12, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2049319/operators-prep-low-cost-da…
- 22“Operators told to support ‘work from home’ effort,” Bangkok Post, January 6, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2046151/operators-told-to-support-…
- 23“Why COVID-19 will worsen inequality in Thailand,” The Diplomat, April 28, 2020, https://thediplomat.com/2020/04/why-covid-19-will-worsen-inequality-in-…
- 24Office of the National Broadcasting and Telecommunications, Zero-Rating service in Mobile Market in Thailand, 2019, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NBTC_Journal/article/view/148350/…
- 25“CAT Telecom moves business focus to IoT digital services,” The Nation Thailand, December 17, 2017, https://www.nationthailand.com/Corporate/30334156; “CAT Telecom PCL,” Company Profile, Bloomberg, https://www.bloomberg.com/profile/company/CATZ:TB, Communication Authority of Thailand, http://www.cattelecom.com/coverpage/start.php.
- 26World Bank, Thailand Infrastructure Annual Report 2008, Telecommunications Sector, accessed May 1, 2012, http://siteresources.worldbank.org/INTTHAILAND/Resources/333200-1177475….
- 27"MICT and TOT clarifies after TOT Union opposes the transfer of TOT broadband network equipment into affiliates," Royal Thai Government, The Secretariat of the Cabinet, March 14, 2018, https://web.archive.org/web/20180319044014/http://www.thaigov.go.th/new…;
- 28“Not only proposal: cabinet resolution presses for Single Gateway to control websites,” Blognone, September 22, 2015, https://www.blognone.com/node/72775.
- 29“International hackers strike,” Bangkok Post, October 22, 2015, http://www.bangkokpost.com/tech/local-news/739884/anonymous-steps-up-si….; “Prawit: Single gateway is a must,” Bangkok Post, December 14, 2016, https://www.bangkokpost.com/tech/1159396/prawit-single-gateway-is-a-must
- 30“Govt mulls internet gateway to fight crime”, Bangkok Post, February 20, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2266939/govt-mulls-interne…
- 31Ibid.
- 32See Sections 68 and 69 in Government Gazette of Thailand, An Unofficial translation of the Cybersecurity Act (2019), May 27, 2019, https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2019/11/thailand-cybersecrut…
- 33“NBTC Annual Report 2020,” National Broadcasting and Telecommunications Association, December 15, 2021, https://web.archive.org/web/20220412192702/https://www.nbtc.go.th/web/2….
- 34“AIS wins 23 5G licences in B100bn auction,” Bangkok Post, February 16, 2020, https://www.bangkokpost.com/business/1858849/ais-wins-23-5g-licences-in…
- 35"Thailand’s Mobile Market as of Q1 2021”, Yozzo, June 13, 2021, https://www.yozzo.com/insights/thailands-mobile-market-as-of-q1-2021/
- 36True-DTAC formally announce merger plan”, Bangkok Post, November 22, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2219499/true-dtac-formally-announc…; “House panel questions True, DTAC; seeks more clarity on merger deal”, Nation Thailand, March 3, 2022, https://www.nationthailand.com/business/40012992 ; “Government dragging its feet on new NBTC board”, Bangkok Post, February 5, 2022,
- 37Komsam Tortermvasana, “Tough rules on DTAC, True merger expected,” Bangkok Post, August 17, 2022, https://www.bangkokpost.com/business/2370301/tough-rules-on-dtac-true-m….
- 38“Who’s That Knocking at My Door? Understanding Surveillance in Thailand,” Privacy International, January 25, 2017, https://privacyinternational.org/report/61/whos-knocking-my-door-unders….
- 39“New NBTC chairman and four commissioners get royal endorsement”, Nation Thailand, April 14, 2022, https://www.nationthailand.com/in-focus/40014549
- 40“Government dragging its feet on new NBTC board”, Bangkok Post, February 5, 2022, https://www.bangkokpost.com/business/2259147/government-dragging-its-fe…
- 41“Senators vote to pass the new NBTC law overturning NBTC recruitment,” Prachachat.net, February 15, 2021, https://www.prachachat.net/ict/news-614137; “Senate majority votes to pass NBTC law, green light for abortion,” Matichon Online, February 15, 2021, https://www.matichon.co.th/economy/news_2579714
- 42“Don’t be surprised as to why everyone wants to be NBTC commissioners,” BBC News, April 25, 2018, https://www.bbc.com/thai/thailand-42855803.
- 43“Thailand: Lift ban on outspoken TV station,” Prachatai English, February 13, 2019, https://prachatai.com/english/node/7928; “Voice TV suspended for 15 days,” Bangkok Post, February 12, 2019, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1628102/voice-tv-suspended…
- 44“Voice TV wins case against NBTC; suspension lifted,” Prachatai English, February 27, 2019, https://prachatai.com/english/node/7950
- 45Sasiwan Mokkhasen, "Thailand to Welcome New Digital Ministry," Khaosod English, June 4, 2016, http://www.khaosodenglish.com/politics/2016/06/04/thailand-to-welcome-n….
- 46Government Gazette of Thailand, Digital Economy and Society Development Act B.E. 2560 (2017), 10 A 134 § (2017), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/010/1.PDF; “NLA Performs 2nd and 3rd Reading of Draft Act on Digital Economy and Society Development,” National News Bureau of Thailand, December 9, 2016, https://web.archive.org/web/20161212152843/http://thainews.prd.go.th/we….
- 47State representatives include the Prime Minister, Minister of Defense, Minister of Finance, Minister of Agriculture, Minister of Transportation, Minister of MDES, Minister of Commerce, Minister of Interior, Minister of Science and Technology, Minister of Education, Minister of Health, Minister of Industry, NESDB, and the governor of the Bank of Thailand.
- 48See Sections 5, 12, 20 and 25 in Government Gazette of Thailand, An Unofficial translation of the Cybersecurity Act (2019), May 27, 2019, https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2019/11/thailand-cybersecrut…
- 49Manushya Foundation, Thailand’s Cybersecurity Act: Towards a Human-Centered Act protection Online Freedom and Privacy, while tackling cyber threats, September 2019, https://a9e7bfc1-cab8-4cb9-9c9e-dc0cee58a9bd.filesusr.com/ugd/a0db76_4b…
- 50Ibid.
- 51“New committee plans broad strokes,” Bangkok Post, January 10, 2020, https://www.bangkokpost.com/tech/1832494/new-committee-plans-broad-stro…
- 52“Committee finalised for data protection act”, Bangkok Post, January 20, 2022, https://www.bangkokpost.com/business/2250263/committee-finalised-for-da…
- 53“Thailand blocks thousands of websites for ‘insulting’ king,” The Telegraph, January 6, 2009, https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/thailand/4140425/Thaila…; “Thailand shuts down more than 1,300 websites over remarks about late king,” The Star, November 17, 2016, https://www.thestar.com/news/world/2016/11/17/thailand-shuts-down-more-….
- 54“Court hits prohibited websites”, Bangkok Post, November 16, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2215875/court-hits-prohibi…
- 55""Chaiyawut" admires Youtube, Tiktok joins hands to block Fake News, reveals concern, sympathizes with sympathizers”, Royal Thai Government, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/55666
- 56“#No112.org Website blocked by the Thai government to silence our demands for royal reform!”, Manushya Foundation, February 17, 2022, https://www.manushyafoundation.org/post/no112-org-website-blocked-by-th…; “No112.oth showed signs of HTTP blocking (HTTPS requests failed) in Thailand,” OONI Explorer, February 13, 2022, https://explorer.ooni.org/measurement/20220213T100708Z_webconnectivity_… /
- 57“No112.oth showed signs of HTTP blocking (HTTPS requests failed) in Thailand,” OONI Explorer, June 15, 2022, https://explorer.ooni.org/search?test_name=web_connectivity&probe_cc=TH…
- 58“Ministry cracks down on online gambling, arrests 140 people running websites,” The Nation, November 14, 2020, https://www.nationthailand.com/news/30397947; “#SavePornhub: Thailand’s online porn ban prompts backlash,” Reuters, November 3, 2020, https://www.reuters.com/article/thailand-porn/savepornhub-thailands-onl…; Manushya Foundation, Thailand the ‘Land of Digital Dictatorship’: PornHub ban vs. violation of Online Freedom & Privacy, https://www.manushyafoundation.org/post/thailand-the-land-of-digital-di…
- 59“Thailand protests: Authorities move to ban Telegram messaging app,” BBC News, October 19, 2020, https://www.bbc.com/news/world-asia-54598956; Manushya Foundation, Prayut’s Digital Dictatorship with Online Freedom Under Attack, October 19, 2020, https://www.manushyafoundation.org/post/prayut-s-digital-dictatorship-w…
- 60“Fear Change much? Gov’t blocks Change.org to stop petition,” Khaosod English, October 16, 2020, https://www.khaosodenglish.com/culture/net/2020/10/16/fear-change-much-…; “Thailand blocks Change.org as petition against king gains traction,” BBC News, October 16, 2020, https://www.bbc.com/news/world-asia-54566767.
- 61"Thailand Peruses Legal Action Against Social Media Providers", CTN News, December 31, 2021, https://www.chiangraitimes.com/crime/thailand-peruses-legal-action-agai…
- 62Kay Yen Wong et al., The State of Internet Censorship in Thailand, The Open Observatory of Network Interference (OONI), March 2017, https://ooni.torproject.org/post/thailand-internet-censorship/#whatsapp….
- 63See website of Hotspot Shield: https://www.hotspotshield.com/.
- 64“Factsheet on IP Protection and Enforcement in Thailand”, Department of Intellectual Property, Ministry of Commerce, October 2021, http://www.ipthailand.go.th/images/3534/2564/DIP/FactsheetOCT_2021DIP.p…
- 65“ “Chaiyawut” admires Youtube, Tiktok joins hands to block Fake News, reveals concern, sympathizes with sympathizers”, Royal Thai Government, https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/55666
- 66“Court urged to block 42 URLs for sharing controversial Lazada ad”, The Nation Thailand, May 10, 2022, https://www.nationthailand.com/in-focus/40015416 ; “Thailand urges care over content as Lazada promotion angers royalists", Reuters, May 7, 2022, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thailand-urges-care-over-con…
- 67“Social posts prompt charges,” Bangkok Post, May 25, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2120927/social-posts-promp…
- 68“Thailand”, Facebook Transparency, https://transparency.facebook.com/content-restrictions/country/TH
- 69"Government requests to remove content,” Transparency Report, Thailand, Google, https://transparencyreport.google.com/government-removals/by-country/TH
- 70“Thailand,” Twitter Transparency, accessed April 12, 2022, https://transparency.twitter.com/en/reports/countries/th.html.
- 71Surej Singh, “Rap Against Dictatorship’s ‘Reform’ music video blocked from YouTube in Thailand,” January 5, 2021, https://www.nme.com/en_asia/news/music/rap-against-dictatorships-reform…
- 72Patpicha Tanakasempipat, “Facebook blocks group critical of Thai monarchy amid government pressure,” Reuters, August 24, 2020, https://www.reuters.com/article/us-thailand-facebook-idUSKBN25K25C
- 73“Facebook says plans to challenge Thai government demand to block group critical of monarchy,” Reuters, August 25, 2020, https://www.reuters.com/article/us-thailand-facebook-statement/facebook…
- 74“FB Accounts ordered down in 24 hours remain accessible 4 days later,” Prachatai, June 7, 2021, https://prachatai.com/english/node/9276
- 75“Thailand’s Computer Related Crime Act 2017 Bilingual,” Thai Netizen Network, December 25, 2017, https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/
- 76Patpicha Tanakasempipat and Panarat Thepgumpanat, “Thailand takes first legal action against Facebook, Twitter over content,” Reuters, September 24, 2020, https://www.reuters.com/article/us-thailand-internet/thailand-takes-fir…
- 77“Pavin reveals that the Thai government has withdrawn the lawsuit against Facebook”, Matichon Online, April 19, 2021, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2678784
- 78“Thailand opens Anti-Fake News Center amid criticism from rights groups,” Benar News, November 1, 2019, https://www.benarnews.org/english/news/thai/thailand-politics-110120191…; Government Gazette of Thailand, Unofficial Translation of the Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations, July 16, 2005, http://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/2018/08/translation-2.pdf; Office of the Prime Minister, Unofficial Translation on the Regulation Issued under Section 9 of the Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations, March 25, 2020, http://www.mfa.go.th/main/contents/files/news3-20200329-164122-910029.p…
- 79“Court throws out request to block Thanathorn’s clip,” Bangkok Post, February 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2064655/court-throws-out-r…
- 80“Court overturns order to shut down 4 online media sites,” Khaosod English, October 21, 2020, https://www.khaosodenglish.com/news/crimecourtscalamity/2020/10/21/cour…
- 81The act stated that “any service provider intentionally supporting or consenting to an offense […] within a computer system under their control shall be subject to the same penalty as that imposed upon a person committing an offense;” See “An unofficial translation of the Computer Crime Act,” Prachatai English, July 24, 2007, http://www.prachatai.com/english/node/117.
- 82“Thailand: Cyber Crime Act Tightens Internet Control,” Human Rights Watch, December 21, 2016, https://www.hrw.org/news/2016/12/21/thailand-cyber-crime-act-tightens-i….
- 83See the regulation on selecting committee members. The latest update on the official government website is the regulation on selecting committee members released in February 2019, see Government Gazette of Thailand, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/042/4.PDF.
- 84“Thailand’s Computer Related Crime Act 2017 Bilingual,” Thai Netizen Network, December 25, 2017, https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/
- 85Ratchakitchanubeksa, Government Gazette of Thailand, Announcement of the Ministry of Digital Economy and Society on the Criteria, Duration and Procedure to stop the dissemination of Computer data or the by the Competent Official or the service provider, July 22, 2017, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/188/21.PDF.
- 86Government of Thailand, Ministerial decree, “Process for the notification, blocking of dissemination, and removal of computer data from computer systems,” accessed on 25 July 2017, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/188/6.PDF.
- 87"Appeal Court rules 8 months jail term with suspended jail term on the case of Prachatai Director," Prachatai, November 8, 2013, https://prachatai.com/journal/2013/11/49676.
- 88For example, charges which were brought by Col Burin Thongprapai, the most renown legal representative for the junta.
- 89“Thailand’s new curbs further harm press freedom”, UCA News, November 29, 2021, https://www.ucanews.com/news/thailands-new-curbs-further-harm-press-fre…
- 90“Coronavirus pandemic prompts rare questioning of Thai monarchy,” Reuters, March 23, 2020, https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-thailand-monarchy…; “Celeb may violate cybercrimes laws by saying he has COVID-19,” Khaosod English, March 13, 2020, https://www.khaosodenglish.com/news/2020/03/13/celeb-may-violate-cyberc…; “Thai republic hashtag trends as frustration surges among protesters”, Reuters, September 25, 2020, https://www.reuters.com/article/us-thailand-protests-idUSKCN26G0GD
- 91“Coronavirus pandemic prompts rare questioning of Thai monarchy,” Reuters, March 22, 2020, https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-thailand-monarchy…
- 92“‘Let’s move countries’ trends on Twitter as netizens criticize government mismanagement”, Thai Enquirer, May 3, 2021, https://www.thaienquirer.com/27081/lets-move-countries-trends-on-twitte…
- 93“Govt watches 'Move Abroad' movement”, Bangkok Post, May 5, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2110219/govt-watches-move-…
- 94ข่าวทั่วไป, Facebook, accessed April 14, 2022, https://www.facebook.com/groups/generalnews99/about.
- 95“185 accounts related to Thai military information operation removed by Facebook,” Prachatai, March 5, 2021, https://prachatai.com/english/node/9101
- 96”Disclosing networks to our state-linked information operations archive,” Twitter Safety, October 8, 2020, https://blog.twitter.com/en_us/topics/company/2020/disclosing-removed-n…; “Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai Army,” Stanford Internet Observatory, October 8, 2020, https://stanford.app.box.com/v/202009-sio-thailand; “Thai army denies Twitter disinformation campaign after takedowns,” Reuters, October 9, 2020, https://www.reuters.com/article/thailand-cyber/thai-army-denies-twitter…; “Exclusive: Twitter suspends Thai royalist account linked to influence campaign,” Reuters, November 30, 2020, https://www.reuters.com/article/thailand-protests-royalists/exclusive-t…
- 97“Army denies hiring firm to do IO after data leak,” Bangkok Post, November 28, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2026903/army-denies-hiring…; Twitter post, November 29, 2020, https://twitter.com/Thai_Talk/status/1332890296133120001; Twitter post, December 1, 2020, https://twitter.com/Pannika_FWP/status/1333662925140094977
- 98Thumbs Up, “Investigate the structure of News Network-parent company of Nation TV”, March 21, 2019, https://www.thumbsup.in.th/news-network-head-company-of-nation-tv.
- 99“Govt to probe ‘cyber war’,” Bangkok Post, February 27, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1866364/govt-to-probe-cyb…; “Opposition targets government’s ‘information ops’,” Bangkok Post, March 13, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1877599/opposition-target…
- 100“Joint Statement: State-backed Online Information Operation Against Human Rights Defenders Must be Fully Investigated and Immediately Halted,” Union for Civil Liberty (UCL), March 2, 2020, http://ucl.or.th/?p=3077; “PM denies role in Army ‘cyber-war on critics’,” The Nation, February 27, 2020 https://www.nationthailand.com/news/30382956
- 101“Isoc says ‘cyber war’ only on fake news,” Bangkok Post, February 28, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1867154/isoc-says-cyber-wa…; “Internal Security Operations Command accepts the documents of the opposition during the Council session of claims made to create understanding,” Khaosod, February 27, 2020, https://www.khaosod.co.th/politics/news_3653749
- 102“PM involvement in ‘Information Operations’ raised in no-confidence debate”, Prachatai, September 3, 2021, https://prachatai.com/english/node/9435
- 103Janjira Sombatpoonsiri, “We are Independent Trolls”: The Efficacy of Royalist Digital Activism in Thailand”, ISEAS, January 5, 2022, https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2022-1…
- 104“[Thailand] Angkhana Neelapaijit and Anchana Heemmina File Civil Case against PM’s Office and Royal Thai Army for Their Involvement in a Disinformation and Smear Campaign”, Protection International, November 16, 2020, https://www.protectioninternational.org/en/news/thailand-angkhana-neela…; “Thai Civil Case on Disinformation and Smear Campaigns Against WHRDs Rescheduled”, May 25, 2022, https://www.protectioninternational.org/en/news/thai-civil-case-disinfo…
- 105“Thailand launches anti-fake news centre,” Channel News Asia (CNA), November 3, 2019, https://www.channelnewsasia.com/news/asia/thailand-launches-anti-fake-n…
- 106“DSI assigned to investigate fake news,” Department of Special Investigation, May 2, 2021, https://www.dsi.go.th/en/Detail/e4b6841de816696224c7e6cd056f3735
- 107“ครม.รับหลักการร่างระเบียบสำนักนายกฯ ปราบข่าวปลอม ตั้งศูนย์ประสานทุกกระทรวง ทุกจังหวัด”, Unofficial English translation, Prachatai, February 1, 2022, https://prachatai.com/journal/2022/02/97059
- 108Information provided through local conversations.
- 109“Prayut praises success in Thailand’s ‘war on fake news’”, Nation Thailand, September 22, 2021, https://www.nationthailand.com/in-focus/40006513
- 110“Over a million pieces of fake news posted online in two years”, Nation Thailand, December 29, 2021, https://www.nationthailand.com/in-focus/40010570
- 111“In the Thai context, the good intentions of the media ethics bill are suspect, Prachatai English, February 1, 2022, https://prachatai.com/english/node/9678 ; Draft Media Ethics and Professional Standards Promotion Act (Thai), 2022, https://drive.google.com/file/d/1vjDJp8JqF6JtZObAae3ZojE8ul5i4jd_/view
- 112“NBTC to proposes to ASEAN Media Regulators Symposium to tax OTT,” MGR Online, September 10, 2018, https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000090665.
- 113“Thailand’s application of VAT on digital services (e-services) provided by foreign operators will apply as of 1 September 2021”, EY Global, August 6, 2021, https://www.ey.com/en_gl/tax-alerts/thailand-s-application-of-vat-on-di…
- 114“NBTC hosts a conference welcoming ASEAN neighbors to quickly find an “OTT” conclusion,” Prachachat, August 23, 2019, https://www.prachachat.net/public-relations/news-363914; “The future of OTT in ASEAN,” Bangkok Post, September 20, 2019, https://www.bangkokpost.com/business/1754489/the-future-of-ott-in-asean
- 115“2019 ATRC OTT Dialogue,” Association for South East Asian Nations, August 19, 2019, http://asean.nbtc.go.th/en/Meeting/2019-ATRC-OTT-Dialogue.aspx
- 116“NBTC hosts a conference welcoming ASEAN neighbors to quickly find an “OTT” conclusion,” Prachachat, August 23, 2019, https://www.prachachat.net/public-relations/news-363914; “OTT content filter proposed,” Bangkok Post, August 20, 2019, https://www.bangkokpost.com/business/1733211/ott-content-filter-proposed
- 117Digital 2022: Thailand, We are social and Hootsuite, https://datareportal.com/reports/digital-2022-thailand
- 118“Opinion: Thanks to faltering economy and years of repression, the youth is now awake,” Khaosod English, February 29, 2020, https://www.khaosodenglish.com/opinion/2020/02/29/opinion-thanks-to-fal… ; “Net users, you are being watched”, Bangkok Post, November 24, 2021, https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2220495/net-users-you-are-b…
- 119“Thai media is outsourcing much of its coronavirus coverage to Beijing and that’s just the start,” Thai Enquirer, January 31, 2020, https://www.thaienquirer.com/7301/thai-media-is-outsourcing-much-of-its…
- 120“Note on Khaosod English’s Partnership with Xinhua,” Khaosod English, https://www.khaosodenglish.com/opinion/2019/08/20/note-on-khaosod-engli…
- 121https://www.thaienquirer.com/17790/if-politics-was-good-trends-on-twitt…
- 122“Thailand’s Protestors want the world to know #WhatsHappeninginThailand,” The Diplomat, October 22, 2020, https://thediplomat.com/2020/10/thailands-protesters-want-the-world-to-… ; “#WhatsHappeningInThailand: Government crackdown on the right to protest”, Article 19, October 25, 2020, https://www.article19.org/resources/whatshappeninginthailand-government…
- 123Janjira Sombatpoonsiri, “Thai 2021 Demonstrations: Losing Traction Online”, Fulcrum, October 26, 2021, https://fulcrum.sg/thai-2021-demonstrations-losing-traction-online/
- 124“No112.oth showed signs of HTTP blocking (HTTPS requests failed) in Thailand,” OONI Explorer, June 15, 2022, https://explorer.ooni.org/search?test_name=web_connectivity&probe_cc=TH…
- 125อัยการลำปางสั่งฟ้อง “ทิวากร” คดี ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ล่ารายชื่อทำประชามติคงไว้หรือเลิกระบอบกษัตริย์, Thai Lawyer for Human Rights (TLHR), March 3, 2022, https://tlhr2014.com/archives/40925
- 126“Joint Open Letter: Thailand's Abusive Draft Law on Not-For-Profit Organizations”, Manushya Foundation, May 12, 2022, https://www.manushyafoundation.org/joint-open-letter-thailands-abusive-… ; “Joint Open Letter on the Draft Act on the Operations of Not-for-Profit Organizations”, Manushya Foundation, December 27, 2021, https://www.manushyafoundation.org/joint-open-letter-draft-act-on-the-o…; “Why the Draft NGO Law a Danger to Democracy in Thailand?”, Manushya Foundation, June 17, 2021, https://www.manushyafoundation.org/post/why-is-the-draft-ngo-law-a-dang… ;
- 127“Thailand’s ‘youthquake’: Activism in the time of COVID-19,” Global Voices, June 25, 2020, https://globalvoices.org/2020/06/25/thailands-youthquake-activism-in-th…
- 128“#abolish112,” Twitter, accessed April 15, 2022, https://twitter.com/search?q=%23abolish112.
- 129https://www.facebook.com/watch/?v=343407177880671 ; http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/118/T_0039.PDF
- 130“Covid-19 to be declared endemic in October,” Bangkok Post, August 19, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2372410/covid-19-to-be-dec…; “CCSA to decide next month whether to lift emergency decree,” Thai PBS, August 22, 2022, https://www.thaipbsworld.com/ccsa-to-decide-next-month-whether-to-lift-….
- 131“Thailand: Immediately repeal emergency regulation that threatens online freedoms,” Access Now, August 3, 2021, https://www.accessnow.org/cms/assets/uploads/2021/08/2021.08.03-Thailan…
- 132“Thai Civil Court forced Prayut to Repeal his Regulation No. 29 censoring the Truth online!” Manuysha Foundation, August 10, 2021, https://www.manushyafoundation.org/post/thai-civil-court-forced-prayut-…
- 133“Joint Open Letter: Thailand: Request for Information on Approved Draft Amendments to the Communicable Diseases Act”, Manushya Foundation, November 11, 2021, https://www.manushyafoundation.org/jointopenletter-request-for-informat… ; “Joint Communication from Special Procedures - JOL THA 7/2021”, Office of the High Commissioner for Human Rights, December 20, 2021, https://spcommreports.ohchr.org/TMResultsBase/DownLoadPublicCommunicati…
- 134“US, EU express concerns over FFP disbandment,” Bangkok Post, February 29, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1863264/us-eu-express-con…
- 135“Thai court rules students' royal reform call sought to overthrow monarchy,” Reuters, November 10, 2021, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thai-court-rules-students-ro…; “Thailand: Court ruling is ‘dangerous warning’ on freedom of expression,” Amnesty International, November 11, 2021, https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/11/thailand-court-ruling-is….
- 136“Charter court faces ‘contempt’ dilemma,’ Bangkok Post, September 7,2019, https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1744579/charter-court-faces…
- 137The law penalized anyone that, “with ill or fraudulent intent, put into a computer system distorted or forged computer information, partially or entirely, or false computer information, in a manner that is likely to cause damage to the public.”
- 138Thai Netizen Network, “Thailand’s Computer Related Crime Act 2017 Bilingual,” Thai Netizen Network, January 25, 2017, https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/.
- 139Office of the Prime Minister, Unofficial Translation on the Regulation Issued under Section 9 of the Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations, March 25, 2020, http://www.mfa.go.th/main/contents/files/news3-20200329-164122-910029.p…; Government Gazette of Thailand, Unofficial Translation of the Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations, July 16, 2005, http://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/2018/08/translation-2.pdf
- 140Government Gazette of Thailand, Unofficial Translation of the Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situations, July 16, 2005, http://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/2018/08/translation-2.pdf
- 141Draft Media Ethics and Professional Standards Promotion Act (Thai), 2022, https://drive.google.com/file/d/1vjDJp8JqF6JtZObAae3ZojE8ul5i4jd_/view ; “In the Thai context, the good intentions of the media ethics bill are suspect”, Prachatai English, February 1, 2022, https://prachatai.com/english/node/9678
- 142“The diplomatic price Thailand has paid to suppress protests,” Prachatai English, January 29, 2021, https://prachatai.com/english/node/9040
- 143“สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65”, Thai Lawyers for Human Rights, January 2022, https://tlhr2014.com/archives/23983
- 144“One activist released, one denied bail,” Prachathai English, February 25, 2022, https://prachatai.com/english/node/9715; “Activist now facing 20 lèse majesté charges”, Prachatai English, June 17, 2021, https://prachatai.com/english/node/9299
- 145“Thai Pro-Democracy Protest Leader Freed on Bail”, Benar News, February 24, 2022, https://www.benarnews.org/english/news/thai/protester-freed-02242022152…
- 146”Activist arrested for live broadcasting at a royal procession”, Prachatai English, March 7, 2022, https://prachatai.com/english/node/9731
- 147“Thailand: Release hunger-striking activists: Netiporn ‘Bung’ Sanesangkhom, Nutthanit ‘Bai Por’ Duangmusit and Tantawan ‘Tawan’ Tuatulanon”, Amnesty International, June 14, 2022, https://www.amnesty.org/en/documents/asa39/5702/2022/en/
- 148“Thai courts sentences man to four years in prison for photoshopping pictures of the king,” Thai Enquirer, March 10, 2021, https://www.thaienquirer.com/25125/thai-courts-sentences-man-to-four-ye…
- 149“87 Years of Jail Time for Violating 112 – It is Inhuman!,” Manushya Foundation, January 20, 2021, https://www.manushyafoundation.org/post/87-years-of-jail-time-for-viola…; “Ex-revenue official gets 43 years,” Bangkok Post, January 20, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2053783/ex-revenue-officia…; “63-year old woman sentenced to 43 years in jail on 29 lèse majesté offences” Prachatai English, January 20, 2021, https://prachatai.com/english/node/9023
- 150Facebook post, Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), January 21, 2020, https://www.facebook.com/tlhr2014/posts/3384484388346323; “Court sentence ‘Anchan’ to 87 years in prison, the highest recorded sentence under Section 112 for ‘Banpot’ clip,” Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), January 19, 2021, https://tlhr2014.com/archives/25282?fbclid=IwAR3wLqdR1FnfeXaYoqaFOjhGPJ…
- 151“Thai activist sent back to jail for writing about prison conditions”, UCA News, April 22, 2022, https://www.ucanews.com/news/thai-activist-sent-back-to-jail-for-writin…
- 152“Sombat Thongyoi accused of Section 112 for posting “#verybrave #verygood #thankyou” along with two other texts is sentenced to 6-year jail term. Court reasoned the intention to ridicule and depreciate the monarchy”, Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), May 10, 2022, https://tlhr2014.com/en/archives/43465
- 153"Activist charged with sedition for running Facebook page”, Prachatai English, September 22, 2021, https://prachatai.com/english/node/9465
- 154“Arbitrary detention of Panusaya”, Thai Political Prisoners, November 18, 2021, https://thaipoliticalprisoners.wordpress.com/2021/11/20/arbitrary-deten…,
- 155“Cyber cops unit to be set up,” Bangkok Post, June 12, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1933404/cyber-cops-unit-to…; “2,000 hires for cyber unit,” Bangkok Post, July 31, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1960135/2-000-hires-for-cy…; “New agency to tackle cybercrimes,” Bangkok Post, October 13, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2001111/new-agency-to-tack…
- 156“Prayut praises success in Thailand’s ‘war on fake news’”, September 22, 2021, Nation Thailand, https://www.nationthailand.com/in-focus/40006513
- 157“10 arrested over spreading ‘fake news’ online,” The Thaiger, June 21, 2020, https://thethaiger.com/hot-news/crime/10-arrested-over-spreading-fake-n…; Two arrested for spreading coronavirus fake news,” Khaosod English, January 30, 2020, https://www.khaosodenglish.com/politics/2020/01/30/two-arrested-for-spr…; “Two held for sharing fake news on virus,” Bangkok Post, January 30, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1847099/two-held-for-shari…
- 158“Teen rapper Milli fined in social media crackdown on celebrities who criticise govt”, Nation Thailand, July 22, 2021, https://www.nationthailand.com/in-focus/40003616 ; “Singer Milli 1st celeb charged for criticizing Thai gov’t following minister’s threat”, Coconuts Bangkok, July 21, 2021, https://coconuts.co/bangkok/news/singer-milli-1st-celeb-charged-for-cri…
- 159“DES files complaints against Thanathorn over vaccination programme scrutiny,” Prachatai English, January 21, 2021, https://prachatai.com/english/node/9028?utm_source=feedburner&utm_mediu…; “Thai government files royal insult complaint after criticism of its vaccine strategy,” Reuters, January 20, 2021, https://www.reuters.com/article/us-thailand-politics/thai-government-fi…
- 160https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/2167967/thanathorn-hit-wi…
- 161“Thanathorn indicted for royal defamation, allegedly causing people to ‘question’ the king”, Prachatai English, April 13, 2022, https://prachatai.com/english/node/9788?utm_source=feedburner&utm_mediu…
- 162“The Court sentenced the defendant to 12 years in prison for posting the story of King Rama 10 to Germany and the popularity of the people to the King”, Prachatai, June 20, 2022, https://prachatai.com/journal/2022/06/99160
- 163“'Influencers' arrested for lese majeste over Lazada promotion”, Bangkok Post, June 16, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2327718/influencers-arrest… ; “Three influencers charged with royal defamation over Lazada ads”, Prachatai English, June 18, 2022, https://prachatai.com/english/node/9872?utm_source=feedburner&utm_mediu…
- 164“Law scholar charged with royal defamation”, Prachatai English, June 21, 2022, https://prachatai.com/english/node/9874?utm_source=feedburner&utm_mediu…
- 165“Activist arrested, accused of making threats to monarchy,” Khaosod English, October 8, 2019, https://www.khaosodenglish.com/politics/2019/10/08/activist-arrested-ac…
- 166“Twitter user arrested for posting about monarchy; twice denied bail,” Prachatai English, https://prachatai.com/english/node/8380
- 167“Prosecutor stalls over Rama X tweets,” Prachatai, June 5, 2020, https://prachatai.com/english/node/8566
- 168“Netizen faces new charges and up to 40 years in jail over tweets on royalty,” Prachatai English, June 11, 2020, https://prachatai.com/english/node/8582
- 169https://prachatai.com/english/node/8568
- 170Twitter post of Angkhana Neelapaijit dated February 24, 2020, https://twitter.com/AngkhanaNee/status/1231907838752108545
- 171“Thailand: Drop Criminal Complaint Against U.N. Special Procedures Mandate-Holder Angkhana Neelapaijit”, Fortify Rights, April 26, 2022, https://www.fortifyrights.org/tha-inv-2022-04-26/
- 172“Court dismisses royal defamation charge against writer”, Prachatai English, March 18, 2022, https://prachatai.com/english/node/9747
- 173“Activist freed after almost 4 years,” Bangkok Post, 25 June 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1941004/activist-freed-af…; “Political Activist acquitted of sedition after 3 years in jail,’ Khaosod English, 25 June 2020, https://www.khaosodenglish.com/news/crimecourtscalamity/2020/06/25/poli…
- 174“NBTC insists buying sim cards must confirm identify,” Spring News, February 1, 2018, https://www.springnews.co.th/view/191705.
- 175“Facial ID scanning for phone users in deep South to start November 1st,” Thai PBS World, June 23, 2019, https://www.thaipbsworld.com/facial-id-scanning-for-phone-users-in-deep…; “Thai Officials order cellphone owners in Deep South to have photos taken,” Benar News, June 25, 2019, https://www.benarnews.org/english/news/thai/Thai-Deep-South-telecoms-06….
- 176“The Patani Panopticon: biometrics in Thailand’s deep south,” new mandala, May 27, 2020, https://www.newmandala.org/the-patani-panopticon-biometrics-in-thailand…
- 177“Facial recognition push in South raises rights concerns,” The Nation, June 25, 2019, https://www.nationthailand.com/national/30371755
- 178Article 19, Thailand: Computer Crime Act, January 2017, p.23, https://www.article19.org/data/files/medialibrary/38615/Analysis-Thaila….
- 179“Digital Rights in Thailand,” Manushya Foundation, September 2021, https://a9e7bfc1-cab8-4cb9-9c9e-dc0cee58a9bd.filesusr.com/ugd/a0db76_94…
- 180Pegasus Spyware Used against Thailand’s Pro-Democracy Movement", The Citizen Lab, July 17, 2022, https://citizenlab.ca/2022/07/geckospy-pegasus-spyware-used-against-tha…; “Parasite that Smiles: Pegasus Spyware Targeting Dissidents in Thailand,” iLaw and DigitalReach,, July 16, 2022, https://freedom.ilaw.or.th/en/report-parasite-that-smiles.
- 181“Apple warns Thai activists 'state-sponsored attackers' may have targeted iPhones”, The Straits Times, November 25, 2021, https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/apple-warns-thai-activists-st…
- 182https://citizenlab.ca/2020/12/running-in-circles-uncovering-the-clients…
- 183The Citizen Lab, “HIDE AND SEEK. Tracking NSO Group’s Pegasus Spyware to Operations in 45 Countries", September 18, 2018, https://citizenlab.ca/2018/09/hide-and-seek-tracking-nso-groups-pegasus…
- 184Privacy International, Who’s That Knocking at My Door? Understanding Surveillance in Thailand, January 2017, https://privacyinternational.org/sites/default/files/2017-10/thailand_2….
- 185“Govt’s anti-fake news centre gets help,” Bangkok Post, February 16, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1859719/govts-anti-fake-ne…
- 186“Digital Rights in Thailand: Thailand's Third Universal Periodic Review Cycle”, Manushya Foundation, September 13, 2021, https://www.manushyafoundation.org/thailand-third-upr-cycle-factsheet-d…
- 187“Prachatai reporter, citizen journalists on police watchlist,” Prachatai, July 14, 2022, https://prachatai.com/english/node/9910?utm_source=grf-eng&utm_medium=p….
- 188“Clubhouse emerges as platform for Thai dissidents, government issues warning,” Reuters, February 17, 2021, https://www.reuters.com/article/us-clubhouse-thailand/thailand-warns-ag…; “Gov’t warns users of Clubhouse app about political content,” Khaosod English, February 18, 2021, https://www.khaosodenglish.com/politics/2021/02/18/govt-warns-users-of-…
- 189Government Gazette of Thailand, “Unofficial Translation of the National Intelligence Act (2019),” April 15, 2019, https://www.nia.go.th/FILEROOM/CABFRM01/DRAWER01/GENERAL/DATA0041/00041…; “New National Intelligence Act sanctions use of electronic toold to access private information,” Prachatai English, April 19, 2019, https://prachatai.com/english/node/8026
- 190“A closer look at Thailand’s (non-mandatory) contact tracing apps,” Thai PBS World, January 9, 2021, https://www.thaipbsworld.com/a-closer-look-at-thailands-non-mandatory-c…
- 191“Ministry unveils new quarantine app,” Bangkok Post, March 13, 2020, https://www.bangkokpost.com/business/1877654#cxrecs_s; “Arrivals to provide data via AoT app,” Bangkok Post, March 12, 2020, https://www.bangkokpost.com/tech/1876684#cxrecs_s
- 192“Analysis: ‘Pragmatic’ Asia fast-tracks hi-tech coronavirus solutions,” Reuters, March 17, 2020, https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-tech-trfn/analysi…
- 193“Mor Chana tracing app halted”, Bangkok Post, June 2, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2319422/mor-chana-tracing-…
- 194Who’s That Knocking at My Door? Understanding Surveillance in Thailand,” Privacy International, January 25, 2017, https://privacyinternational.org/node/61
- 195Thai Netizen Network, “Thailand’s Computer Related Crime Act 2017 Bilingual,” Thai Netizen Network, January 25, 2017, https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/.
- 196“Thailand’s Computer Related Crime Act 2017 Bilingual,” Thai Netizen Network, December 25, 2017, https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/
- 197“Thailand’s Coffee shops told to track, save public Wi-Fi traffic,” Voice of America (VoA), October 10, 2019, https://www.voanews.com/east-asia-pacific/thailands-coffee-shops-told-t…; https://thainetizen.org/docs/cybercrime-act-2017/
- 198Samata M., Komson S., Nahsinee L., and Thawalkorn P., “Thailand postponed the implementation of the data protection act until 1 June 2022”, DLA PIPER, May 10, 2021, https://www.dlapiper.com/en/uk/insights/publications/2021/05/thailand-p…
- 199“Comparing privacy laws: GDPR v. Thai Personal Data Protection Act,” OneTrust DataGuidance, https://www.dataguidance.com/sites/default/files/gdpr_v_thailand_update…
- 200Government Gazette of Thailand, An Unofficial translation of the Personal Data Protection Act (2019), May 27, 2019, https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2019/11/thailand-personal-da….
- 201“Data privacy laws in Thailand”, Asia Business Law Journal, April 20, 2021, https://law.asia/comparison-data-privacy-laws-thailand/
- 202“Committee finalised for data protection act”, Bangkok Post, January 20, 2022, https://www.bangkokpost.com/business/2250263/committee-finalised-for-da…
- 203Government Gazette of Thailand, An Unofficial translation of the Cybersecurity Act (2019), May 27, 2019, https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2019/11/thailand-cybersecrut…
- 204Manushya Foundation, Thailand’s Cybersecurity Act: Towards a Human-Centered Act protection Online Freedom and Privacy, while tackling cyber threats, September 2019, https://a9e7bfc1-cab8-4cb9-9c9e-dc0cee58a9bd.filesusr.com/ugd/a0db76_4b…
- 205“Population surveillance in Thailand just got a lot more real,” Thisrupt, June 15, 2020, https://thisrupt.co/tech/population-surveillance-in-thailand-just-got-a…
- 206“Govt denies phone tracking,” Bangkok Post, June 9, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1931432/govt-denies-phone-…; “Don’t use data as a weapon,” Bangkok Post, June 10, 2020, https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1932248/dont-use-data-as-we…
- 207Google Transparency Report, “Requests for user information,” accessed September 11, 2022, https://transparencyreport.google.com/user-data/overview?user_requests_…
- 208Facebook Transparency, “Government Requests for User Data,” accessed September 11, 2022, https://transparency.facebook.com/government-data-requests/country/TH
- 209“Thailand,” Twitter Transparency Center, accessed September 11, 2022, https://transparency.twitter.com/en/reports/countries/th.html.
- 210“Threats, violence, and lawsuits became 'normal' for Thai journalists,” Prachatai English,November 2, 2021, https://prachatai.com/english/node/9527.
- 211"Three reporters shot with rubber bullets despite wearing press IDs", Prachatai English, July 19, 2021, https://prachatai.com/english/node/9348
- 212“Police continue program of intimidation aimed at activists and their families”, Thai Enquirer, February 4, 2022, https://www.thaienquirer.com/37216/police-continue-program-of-intimidat… ; “Laws, Police Visits Create 'Climate of Fear' for Thai Media”, VOA News, January 25, 2022, https://www.voanews.com/a/laws-police-visits-create-climate-of-fear-for…
- 213“French expat known for political parody deported”, Prachatai English, November 27, 2021, https://prachatai.com/english/node/9581
- 214“Facebook user behind viral ‘lost faith’ shirt committed to psychiatric hospital,” Prachatai English, July 13, 2020, https://prachatai.com/english/node/8646
- 215“’Lost faith’ shirt wearer released from hospital after 15 days in detention,” Prachatai English, July 24, 2020, https://prachatai.com/english/node/8673; “2020: The Year of Protests, Ceiling Breaking, and Political Lawsuits,” Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), January 12, 2021, https://tlhr2014.com/en/archives/24956?fbclid=IwAR1a4tg3UzovfeF_oGuoCwN…
- 216อัยการลำปางสั่งฟ้อง “ทิวากร” คดี ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์ล่ารายชื่อทำประชามติคงไว้หรือเลิกระบอบกษัตริย์, Thai Lawyer for Human Rights (TLHR), March 3, 2022, https://tlhr2014.com/archives/40925
- 217“’Ja New’ assaulted again, sent to ICU,” Bangkok Post, June 28, 2019, https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/1703660/ja-new-assaulted-…; “Ja New offered police protection – if he gives up activism,” The Nation, July 7, 2019, https://www.nationthailand.com/news/30372508?utm_source=category&utm_me…; “Thailand: 3 Junta Critics Assaulted in Past Month,” Human Rights Watch, May 10, 2019, https://www.hrw.org/news/2019/06/04/thailand-3-junta-critics-assaulted-…; “Thailand: Repeated Attacks on Prominent Activist,” Prachatai, April 3, 2019, https://prachatai.com/english/node/8010; “Attack against Pavin confirmed, alerting other political exiles,” Prachatai English, August 5, 2019, https://prachatai.com/english/node/8159.
- 218“Police unable to identify attackers in Ja New assault,” Bangkok Post, February 20, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1861889/police-unable-to-i…
- 219“Thailand: 3 Junta Critics Assaulted in Past Month,” Prachatai English, June 10, 2019, https://prachatai.com/english/node/8087
- 220“House Committee petitioned over royalist witch hunts”, Prachatai English, June 5, 2020, https://prachatai.com/english/node/8563
- 221“Google Removes Two Custom Maps Doxing Critics of Thai Monarchy”, The Diplomat, June 29, 2021, https://thediplomat.com/2021/06/google-removes-two-custom-maps-doxing-r…
- 222“Thailand: Women Pro-Democracy Activists Criminalized, Harassed, New Report Shows”, FIDH, February 3, 2021, https://www.fidh.org/en/region/asia/thailand/thailand-women-pro-democra…
- 223“Indigenous woman human rights defender visited by military officer after protest against the alleged violence by forest authorities,” Prachatai English, May 12, 2020, https://prachatai.com/english/node/8510
- 224“ ‘I can’t breathe’: Uproar after yet another Thai activist in exile disappears,” Thai PBS World, June 10, 2020, https://www.thaipbsworld.com/i-cant-breathe-uproar-after-yet-another-th…; “Argh, can’t breathe”: Thai political exile kidnapped in Phnom Penh,” Prachatai English, June 4, 2020, https://prachatai.com/english/node/8561
- 225“UN gives Cambodian govt 2 weeks to investigate Wanchalearm’s disappearance,” Prachatai English, June 11, 2020, https://prachatai.com/english/node/8583; “Cambodia to investigate kidnapping exiled Thai activist,” Reuters, June 9, 2020, https://www.reuters.com/article/us-cambodia-thailand-disappearance/camb… “Probe into Thai exile’s enforced disappearance moving at snail’s pace, has glaring gaps, says Amnesty,” Prachatai English, December 8, 2020, https://prachatai.com/english/node/8953 ; “One year later, no credible investigation into the enforced disappearance of Wanchalearm Satsaksit”, FIDH, June 4, 2021, https://www.fidh.org/en/region/asia/cambodia/one-year-later-no-credible…; Soth Koemsoeun, “Groups seek answers over missing Thai activist,” Khmer Times, April 7, 2022, https://www.khmertimeskh.com/501054126/groups-seek-answers-over-missing….
- 226“Three Thais accused of insulting king have disappeared – rights groups,” Reuters, May 10, 2019, https://uk.reuters.com/article/thailand-rights/three-thais-accused-of-i…; Korakot Phiangjai, “Who is Siam Theerawut? From exile to Vietnam to whereabouts unknown,” Prachatai English, May 16, 2019, https://prachatai.com/english/node/8048; Pravit Rojanaphuk, “Family hopes missing republican is still alive,” Khaosod English, May 14, 2019, http://www.khaosodenglish.com/politics/2019/05/14/family-hopes-missing-…; “Thai activists accused of insulting monarchy ‘disappear’ in Vietnam,” The Guardian, May 10, 2019, https://www.theguardian.com/world/2019/may/10/thai-activists-accused-of…; “App ‘to find missing activists’,” Bangkok Post, December 10, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2032743/app-to-find-missin…
- 227“Post-Coup Overview on Exiles: ‘at least’ 6 disappeared, 2 dead, almost a hundred in flight,” Prachatai English, February 17, 2020, https://prachatai.com/english/node/8364
- 228“Mutilated Thai bodies on Mekong shore are activist’s aides,” BBC News, January 22, 2019, https://www.bbc.com/news/world-asia-46965839.
- 229Hannah Ellis-Petersen, “Murder on the Mekong: why exiled Thai dissidents are abducted and killed,” The Guardian, March 17, 2019, https://www.theguardian.com/world/2019/mar/17/thailand-dissidents-murde….
- 230“Digital economy and society minister warns of ransomware,” Bangkok Post, December 7, 2020, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2030959/digital-economy-an…
- 231“Warning over cyberattack threats”, Bangkok Post, September 8, 2021, https://www.bangkokpost.com/business/2178051/warning-over-cyberattack-t…
- 232“Cyber attacks more than double since COVID-19, PwC Thailand says”, PwC Thailand, August 18, 2021, https://www.pwc.com/th/en/press-room/press-release/2021/press-release-1….
- 233Laura Dobberstein, “Bangkok Airways hit by LockBit ransomware attack, loses lotsa data after refusing to pay”, The Register, August 31, 2021, https://www.theregister.com/2021/08/31/bangkok_airways_hit_by_lockbit/
- 234“Hacked hospital patients’ data ‘not important’”, Bangkok Post, September 7, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2177887/hacked-hospital-pa…
- 235“Hackers steal patients' data”, Bangkok Post, September 8, 2021, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2178031/hackers-steal-pati…
- 236“Claim on huge patient data leak”, Bangkok Post, January 10, 2022, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2245063/claim-on-huge-pati…
- 237Krisdika, Notification on publication of the Cybersecurity Act in the Government Gazette, May 27, 2019, http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A1189/%A1189-20-2562-a0001.tif
- 238Government Gazette of Thailand, An Unofficial translation of the Cybersecurity Act (2019), May 27, 2019, https://thainetizen.org/wp-content/uploads/2019/11/thailand-cybersecrut…


Country Facts
-
Global Freedom Score
30 100 not free -
Internet Freedom Score
39 100 not free -
Freedom in the World Status
Not Free -
Networks Restricted
No -
Websites Blocked
Yes -
Pro-government Commentators
Yes -
Users Arrested
Yes